เครือข่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยของอาเซียน
(ASEAN-OSHNET Website)
--------------------------------------------------------------------------------
ความเป็นมา
ความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถแสดงถึงศักยภาพและมาตรฐานของประเทศนั้นๆ และสามารถเป็นดัชนีชี้วัดศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อสร้างศักยภาพและพัฒนามาตรฐานแรงงานของทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนให้แข็งแกร่ง ในที่ประชุม ASEAN FORUM เมื่อปี พ.ศ. 2527 จึงได้มีโครงการที่จะร่วมมือกันในการจัดตั้งเครือข่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มต้นที่จะพัฒนkความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ทั้งในด้านของการศึกษา ค้นคว้า วิจัย อบรมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างกัน ซึ่งต่อจากนั้นได้มีการประชุมและประสานงานระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเครือข่ายฯ มาเป็นระยะ
เมื่อวันที่ 15 -17 ตุลาคม 2539 สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายการฝึกอบรมและสารสนเทศอาเซียนด้านการปรับปรุงสภาพการทำงานและสิ่งแวดล้อม ( Workshop on Feasibility Study on Establish ASEAN Training and Information Centre Network for Improvement of Working Conditions and Environment ) ณ. Quezon city ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในข้อเสนอซึ่งมีสาระสำคัญได้แก่
1.ให้มีการจัดตั้งเครือข่ายความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของอาเซียน(ASEAN-OSHNET) โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นสมาชิก
2.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN OSHNET Coordinating Board) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนการปฏิบัติงานของเครือข่ายฯ และรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านแรงงาน (ASEAN Subcommittee on Labour Affairs-ASCLA ในขณะนั้นซึ่งปัจจุบันได้แก่ ที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน)ทั้งนี้ให้ผู้บริหารของหน่วยงานที่เป็นสมาชิกของแต่ละประเทศเข้าร่วมเป็นกรรมการ
3.ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ ปีละ 2 ครั้ง และให้มีการแต่งตั้งฝ่ายเลขานุการเครือข่ายฯ เพื่อเป็นหน่วยในการประสานการดำเนินงาน
4.ให้จัดให้การดำเนินงานของเครือข่ายฯเป็นโครงการที่สำคัญประการหนึ่งของ ASCLA
5.ให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงาน 4 ปี ทั้ง 6 ข้อได้แก่
1. รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารด้านการป้องกันและควบคุมอันตรายในสถานที่ทำงาน ข้อควรปฏิบัติ การฝึกอบรม งานวิจัย และกิจกรรมของหน่วยงาน ภาครัฐ สมาคมนายจ้าง และสมาคมลูกจ้างในด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย
2. ขยาย การพัฒนา การกำหนด และการแลกเปลี่ยนมาตรฐาน เอกสารการฝึก อบรม และการรณรงค์ส่งเสริม งานความปลอดภัยอาชีวอนามัย
3. การส่งต่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการที่ประหยัด
4. ศึกษาความต้องการฝึกอบรมความปลอดภัยอาชีวอนามัยของประเทศสมาชิก และสนับสนุนการดำเนินการการฝึกอบรม
5. สนับสนุนให้มีความร่วมมือในการศึกษาวิจัย ของประเทศสมาชิก
6. ศึกษาความต้องการผู้ชำนาญการเฉพาะด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยของประเทศสมาชิก และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน
ในการประชุม Workshop to Operationalise the Four Year Plan of Action of the ASEAN Occupational Safety and Health Network (OSHNET) เมื่อวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2543 ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการ 4 ปีของเครือข่ายฯ ในสาระดังนี้
1. เพิ่มความร่วมมือและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของศูนย์/สถาบัน ด้านความปลอดภัยในการทำงานของประเทศสมาชิก
2. พัฒนาขีดความสามารถของศูนย์/สถาบันฯ ในการส่งเสริมการฝึกอบรม และวิจัย ในด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย
3. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทักษะเเละการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย
4. ส่งเสริมการพัฒนาและก่อให้เกิดเอกภาพของมาตรฐาน และแนวปฏิบัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยของ อาเซียน
ทั้งนี้กิจกรรมที่จะดำเนินการประเทศสมาชิกเครือข่ายฯ ร่วมออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและภารกิจหลักในการดำเนินงานของเครือข่ายฯ แบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมหลักและมีมติให้ 4 ประเทศเป็นศูนย์ประสานงานในแต่ละด้าน ซึ่งในปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 5 กิจกรรมหลักดังนี้
- ด้านสารสนเทศ ประเทศไทย รับผิดชอบ
- ด้านฝึกอบรม ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผู้รับผิดชอบ
- ด้านการวิจัย ประเทศ อินโดนีเซีย เป็นผู้รับผิดชอบ
- ด้านมาตรฐานความปลอดภัยอาชีวอนามัย ประเทศมาเลเซียเป็นผู้รับผิดชอบ
- ด้านการตรวจความปลอดภัย ประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้รับผิดชอบ
ได้มีการแต่งตั้งประเทศสมาชิกขึ้นมารับผิดชอบเป็นฝ่ายเลขานุการเครือข่ายฯ โดยกำหนดเงื่อนไข วาระการดำเนินงานได้คราว 3 ปี แล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ให้หมุนเวียนกันไป ทั้งนี้สามารถต่ออายุได้ 1 ครั้ง ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว รับหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการเครือข่ายฯ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551-2553
สมาชิก
ปัจจุบันสมาชิกของเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศได้แก่ ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ และประเทศไทย
วิสัยทัศน์
เครือข่ายความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของอาเซียนเป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของกำลังแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการแข่งขัน
พันธกิจ
1.ประสานความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานสมาชิกอย่างใกล้ชิด
2.เพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งเสริมความปลอดภัย การอบรม และการวิจัย ของหน่วยงานความปลอดภัย และอาชีวอนามัย
3.มีความคล่องตัวและรวดเร็วในการสื่อสาร เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยระหว่างประเทศสมาชิก
4.ผสาน บูรณาการมาตรฐาน ระเบียบข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของอาเซียนให้เป็นในทิศทางเดียวกัน
กลยุทธ์
1.รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูล ในด้านหลักสูตรการฝึกอบรมและเอกสาร วิทยาการ รวมถึงการจัดทำและการปฏิบัติด้านมาตรฐาน และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
2.พัฒนาองค์ความรู้ด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของภูมิภาคโดยพิจารณาจากความต้องการของประเทศสมาชิกเป็นพื้นฐาน
3.พัฒนาหลักสูตรการอบรมให้ตรงกับความต้องการของประเทศสมาชิกโดยเน้นการอบรมวิทยากร เพื่อนำไปไปขยายผลในลักษณะความช่วยเหลือและการพึ่งพาตนเอง
4.การดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายฯ ให้เป็นลักษณะรับผิดชอบงบประมาณร่วมกัน
5.ประสานความร่วมมือด้านงานวิจัยกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย เอกชน และองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร
6.ร่วมเป็นเครือข่ายกับองค์กร หน่วยงานชำนาญการด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยอื่นๆ
7.เป็นผู้แทนของอาเซียนในการมีส่วนร่วมในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับมาตรฐานหรือนโยบายระหว่างประเทศ
8.จัดหาแหล่งสนับสนุนงบประมาณ และความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศพันธมิตรของอาเซียน และหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ
9.เชื่อมโยงกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ของอาเซียน พันธมิตรของอาเซียนองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน รวมถึงสหภาพแรงงาน สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง
10.เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของเครือข่ายฯให้สาธารณชน หน่วยงาน องค์กรด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยรวมถึงหน่วยงานอื่นได้รับทราบ
บทบาทของประเทศไทยในเครือข่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยของอาเซียน
กระทรวงแรงงาน มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ในการเข้าร่วมการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายฯ โดย มอบให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้แทนในคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ (ASEAN OSHNET COORDINATING BOARD) และมอบให้สถาบันความปลอดภัยในการทำงานเป็นศูนย์ประสานงานด้านสารสนเทศของเครือข่ายฯซึ่งมีภารกิจที่ นอกจากจะเป็นผู้วางแผนการพัฒนาระบบสารสนเทศของเครือข่ายฯให้ประเทศสมาชิกสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยข้อมูล ข่าวสารด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีหน้าที่ในการพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานสารสนเทศที่ประเทศสมาชิกจะดำเนินการภายใต้ชื่อของเครือข่ายฯอีกด้วย ซึ่งสถาบันความปลอดภัยในการทำงานได้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย โดยการกำหนดโครงสร้างและหัวข้อของข้อมูลความปลอดภัยอาชีวอนามัยที่ประเทศสมาชิกจะต้องนำมาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย นอกจากนั้นยังได้พิจารณาอนุมัติโครงการอื่นๆ ด้านสารสนเทศ ที่ประเทศสมาชิกเสนอดำเนินการได้แก่ โครงการจัดทำวีดีทัศน์ประชาสัมพันธ์เครือข่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ จัดทำโดยประเทศฟิลิปปินส์ โครงการวารสารเครือข่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ อิเล็กทรอนิคส์ ดำเนินการโดยฝ่ายเลขานุการเครือข่ายฯ โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ดำเนินการโดยฝ่ายเลขานุการเครือข่ายฯ และสำหรับแผนงานด้านสารสนเทศของเครือข่ายฯที่วางไว้ ได้แก่การพัฒนาบุคลากรด้านสารสนเทศของเครือข่ายฯ และการพัฒนาสื่อเผยแพร่ความรู้ข้อมูลความปลอดภัยอาชีวอนามัยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในประเทศสมาชิกให้ได้มากขึ้น
ในภาพรวมแล้วการร่วมมือของประเทศกลุ่มอาเซียนในการดำเนินงาน หรือข่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัย เป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกทุกประเทศ ในการพัฒนางานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย นับเป็นความก้าวหน้าของความร่วมมือที่จะยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคนี้ให้ได้ระดับมาตรฐานสากลและยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในเวทีการแข่งขันของประชาคมโลกที่นับวันจะสูงขึ้นด้วย