พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีออกจากงาน หรือตาย หรือในกรณีอื่นที่กำหนดโดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
การบริหารกองทุน
กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างบริหารงานโดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเป็นไตรภาคี จำนวน 15 คน ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คน โดยมี ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายในการบริหารและการจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง รวมทั้งกำหนดระเบียบต่าง ๆ ในการดำเนินงาน โดยมีกลุ่มงานกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการดำเนินงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารงานกองทุน
การดำเนินงานของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในงบประมาณปี 2543 และ 2545 รวม 250 ล้านบาท เงินค่าปรับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เงินดอกผลของกองทุน
กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ตามระเบียบที่กำหนด โดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งเป็นไตรภาคี และเมื่อจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างแล้ว กองทุนมีสิทธิ์เรียกให้นายจ้างชดใช้เงินที่กองทุนได้จ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีการจ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 ถึงพฤษภาคม 2550 จำนวน 23,937 คน เป็นเงิน 131,570,265.15 บาท
เงินสงเคราะห์จ่ายให้ใคร
เงินสงเคราะห์ของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะจ่ายให้กับลูกจ้างซึ่งได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย หรือนายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้าง หรือเงินอื่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ไม่รวมถึงทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายที่ได้ยื่นคำร้องทุกข์ไว้
เมื่อใดลูกจ้างมีสิทธิยื่นขอรับเงินสงเคราะห์
•เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างและนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ได้ เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและ นายจ้าง มิได้จ่ายเงินตามคำสั่งภายในกำหนด ซึ่งนายจ้างมิได้นำคดีไปสู่ศาล (พ้นระยะ 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง)
•เมื่อนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลูกจ้างยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ได้เมื่อพนักงาน ตรวจแรงงาน ได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินและนายจ้างมิได้จ่ายเงินตามคำสั่งภายในกำหนด
•การยื่นขอรับเงินกองทุนฯ ต้องยื่นคำขอภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์
กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะจ่ายเงินสงเคราะห์ 2 กรณี
1.เงินสงเคราะห์ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย โดยจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้บางส่วน หรือไม่เต็มสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด คือจ่ายให้ ลูกจ้างผู้ขอรับเงินสงเคราะห์ในอัตราดังต่อไปนี้
1.1 สามสิบเท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ หนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหกปี
1.2 หกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ หกปีขึ้นไป
2.เงินสงเคราะห์ในกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ฯลฯ จะให้การสงเคราะห์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ลูกจ้าง สำหรับอัตราเงินที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จะจ่ายในอัตราไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของลูกจ้างที่พึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541
หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์
บัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ซึ่งแสดงได้ว่าระบุถึงตัวผู้นั้นพร้อมสำเนา
สถานที่ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์
ยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ตามแบบที่อธิบดีกำหนด (แบบ สกล.1) ต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน
•ส่วนกลาง ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ ทุกพื้นที่
•ส่วนภูมิภาค ยืนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ทุกจังหวัด
การรับเงินสงเคราะห์
ลูกจ้างมารับเงินด้วยตนเองภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอรับเงินสงเคราะห์พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชนไปแสดงด้วย หากไม่สามารถมารับเงินด้วยตนเองได้ สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับเงินแทนได้ ผู้รับมอบอำนาจต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และตนไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับเงิน หากไม่มารับเงินภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย สิทธิในการขอรับเงิน สงเคราะห์เป็นอันระงับสิ้นไป หากลูกจ้างผู้ถูกระงับสิทธิ์ไปแล้ว มีความประสงค์จะรับเงินกองทุนฯ อีกต้องยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์ใหม่