วันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ พี่น้องแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย จำนวน 17 ราย ได้เดินทางจากอิสราเอล กลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมานั้น ในส่วนการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน ผมได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดและหน่วยงานในกำกับ ลงพื้นที่ไปยังบ้านของแรงงานไทยเพื่อดูแลเรื่องเอกสารเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเอกสารทั้งหมดของแรงงานไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยอำนวยความสะดวกในการแปลและเรียบเรียงเอกสาร เพื่อให้แรงงานไทยได้รับสิทธิประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด
ในส่วนของเงินช่วยเหลือทั้งหมดที่แรงงานไทย 17 ราย ได้รับทันทีที่เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวานนั้น มีจำนวน 125,000 บาท ประกอบด้วย 1. เงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศซึ่งแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบ แรงงานไทยทั้ง 17 ราย พบว่า เป็นสมาชิกที่อยู่ในความคุ้มครองของกองทุนฯ จำนวน 14 ราย และสิ้นสุดความคุ้มครอง จำนวน 3 ราย 2.เงินสด ซึ่งกระทรวงแรงงานได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือมาจากสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับการปล่อยตัวในเบื้องต้นทุกราย รายละ 10,000 บาท และ3.เงินช่วยเหลือจากอิสราเอล ก้อนแรกจำนวน 10,000 เชคเกล หรือประมาณ 100,000 บาท ในรูปแบบบัตรเงินสด ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก ซึ่งได้รับมาจากอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ หากแรงงานไทยดังกล่าวประสบปัญหาด้านร่างกายหรือจิตใจ ยังจะได้รับเงินสงเคราะห์ จากกองทุนฯ รายละ 30,000 บาท โดยต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ (ใบรับรองแพทย์)
ในส่วนสิทธิประโยชน์จากอิสราเอลนั้น แรงงานไทยทุกรายที่ถูกจับกุมตัว จะได้รับเงินช่วยเหลือ ซึ่งนอกจากเงินก้อนแรกข้างต้นนั้น ในช่วง 6 เดือนแรก แรงงานไทยจะได้รับเงิน 6,900 เชคเกลต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นเงินไทยประมาณเดือนละ 60,000 บาท รวมถึง หากแรงงานไทยได้รับการประเมินจากแพทย์ ว่าได้รับผลกระทบด้านร่างกาย หรือจิตใจ สามารถนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นกับสำนักงานประกันสังคมอิสราเอลเพื่อประเมินขอรับเงินช่วยเหลือรายเดือนหลังจาก 6 เดือนได้ โดยแต่ละรายจะได้รับเงินไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการประเมินของสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล
สำหรับค่าชดเชยอื่นๆ ของสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล แรงงานไทยทั้ง 17 ราย ได้กรอกข้อมูลและยื่นคำร้องเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล จะส่งให้สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และในส่วนเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (เงินปิซูอิม) นั้น ผมได้สั่งการให้ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เร่งตรวจสอบติดตามกับนายจ้างเพื่อดำเนินการ จ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังค้างจ่าย เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (ปิซูอิม) แล้วเช่นกัน
“กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา พวกเราห่วงใยและ พยายามดำเนินการในทุกทางอย่างเต็มที่ที่สุด และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาทำให้แรงงานไทยได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย และขอให้ญาติของแรงงานมั่นใจได้ว่ารัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราจะพยายามอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการประสานทุกฝ่าย เพื่อเร่งช่วยเหลือให้พี่น้องแรงงานไทยที่เหลือทั้งหมดให้ได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อพบครอบครัวในเวลาที่รวดเร็วที่สุด ” นายไพโรจน์ กล่าว