Skip to main content

กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา

รายละเอียดเนื้อหา

            วันที่ 20 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา โดยมี นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานฯ ในครั้งนี้ด้วย ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

            นายเดชา กล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการค่าจ้าง นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ตามมาตรา 79 (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 โดยในการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนั้น คณะกรรมการค่าจ้างจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบ ผู้แทนสมาคมและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีหน้าที่จัดทำ (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา ซึ่งมาจากการศึกษา พิจารณาข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามที่กำหนดไว้โดยวัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด

            นายเดชา กล่าวต่อว่า อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเป็นโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองดูแลทั้งลูกจ้างและนายจ้างให้ได้รับประโยชน์และเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เมื่อแรงงานใหม่เข้าสู่ระบการผลิตหากเป็นแรงงานแรกเข้าก็จะรับการคุ้มครองดูแลในเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก่อน เมื่อทำงานไปช่วงหนึ่งแล้วสามารถพัฒนาตนเองให้มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นก็สามารถไปทดสอบมาตรฐานฝีมือของตนเองได้ เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วก็จะได้รับค้างเพิ่มขึ้น สามารถเลื่อนตำแหน่งและขั้นเงินเดือนให้สูงขึ้นตามลำดับชั้นฝีมือ รู้เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพของตนเอง มีขวัญและกำลังใจการทำงาน ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ สำหรับนายจ้างจะได้รับประโยชน์โดยสามารถพัฒนาคนงานได้อย่างต่อเนื่อง มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะฝีมือ มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน และเป็นที่ยอมรับในองค์กร สามารถกำหนดค่าจ้างให้ผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมืแรงงานแห่งชาติ และวางแผนการจ้างและกำหนดโครงสร้างค่าจ้างได้ สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นการลดข้อขัดแย้ง เรื่องอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างจะได้รับ เนื่องจากมีมาตรฐานฝีมือเป็นตัวกำหนดอัตราค่าจ้างของแรงงานอย่างชัดเจน ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกฝีมือแรงงาน คือ มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นกรอบในการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการออกประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือบังคับใช้ไปแล้วจำนวน 129 สาขา โดยล่าสุดประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค้าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 13) เป็นการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่เคยกำหนดมาแล้วให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน มีผลไช้บังตั้บตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม2567 เป็นต้นไป

            “การรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใน 3 กลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล กลุ่มสาชาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และกลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ จำนวน 13 สาขา ในวันนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะอย่างเต็มที่ เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือทั้ง 13 สาขา สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในตลาดแรงงานไทยมากที่สุด และกระทรวงแรงงานจะได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจากทุกท่านนำเสนอคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาต่อไป” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

—————————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

TOP