นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ (17 ม.ค.60) มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก ซึ่งจะช่วยดึงดูดและกระตุ้นให้มีการซื้อขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ตลอดจนเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ผู้ประกอบการและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยมีมาตรการทางภาษีจากมติ ครม. ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างของแรงงานที่เป็นช่างเครื่องประดับประเภทที่ผลิตด้วยมือ หรือผลิตด้วยมือร่วมกับการใช้งานเครื่องจักรที่ไม่ซับซ้อนหรือผลิตคนเดียวตลอดกระบวนการผลิต รวมทั้งมาตรการยกระดับฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตจากผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนการจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อส่งเสริมและพัฒนาช่างศิลป์ และการพัฒนาทายาทช่างฝีมือเพื่ออนุรักษ์การผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยต่อไป
ทั้งนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีแนวนโยบายในการรองรับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอุตสาหกรรมอัญมณี ประกอบด้วย ช่างเจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ และช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 อันจะส่งผลให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีค่าจ้างเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน มีขวัญกำลังใจในการทำงานได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกแรงงานที่มีฝีมือเข้าทำงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนผลิต และสามารถรักษาบุคลากรที่มีฝีมือไว้ได้ด้วย ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ในการพัฒนาบุคลากรให้ลูกจ้างในสาขานี้ เพื่อเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอีกด้วย
————————————–
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
18 มกราคม 2560