Skip to main content

ก.แรงงาน จับมือ ก.ศึกษาธิการ ลงนามเอ็มโอยูพัฒนาทักษะนักเรียน นักศึกษา ส่งเสริมการมีงานทำ มีอาชีพที่มั่นคง

รายละเอียดเนื้อหา

          เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 เวลา 09.30 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียนนักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการกรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล...นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย
          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาทักษะทางอาชีพและส่งเสริมการมีงานทำและให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยเฉพาะในวัยกำลังแรงงานที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งสองหน่วยงานจึงขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวโดยใช้แนวทางประชารัฐในการสร้างความร่วมมือ
         นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลงนามในวันนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big Data) ด้านอุปสงค์อุปทานของตลาดแรงงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาพัฒนาทักษะทางอาชีพและการมีงานทำ จัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่บุคลากรและครูผู้สอนเพื่อนำความรู้ไปขยายผลให้แก่นักเรียน นักศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และแรงงานทุกระดับพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมฝีมือแรงงานไปสู่การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและการประเมินความรู้ความสามารถ ร่วมกันจัดการแข่งทักษะฝีมือระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติ เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีงานทำ การคุ้มครองแรงงาน และด้านประกันสังคม เป็นต้น
           ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562-2564 ที่ผ่านมากรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้นักศึกษาอาชีวะปีสุดท้ายในหลักสูตร เช่น ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อม พนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบฯ ทั้งสิ้น 23,891 คน รวมทั้งส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 114 แห่ง และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถอีก 16 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ โดยมี ผู้ผ่านการฝึกอบรม 1,178 คน ความร่วมมือในครั้งนี้จะมีส่วนสนับสนุนให้ภารกิจที่จะดำเนินการในปี 2565 และปีต่อๆ ไป บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้อย่างแท้จริง

+++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
19 มกราคม 2565

TOP