Skip to main content

ก.แรงงาน นำร่อง 15 จว. ยกระดับคุณภาพชีวิต ขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

รายละเอียดเนื้อหา

         หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ สู่การปฏิบัติ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า ต้องชื่นชมกลุ่มผู้นำแรงงานนอกระบบที่ได้ใช้ความพยายามอย่างเข้มแข็งในการที่จะแสดงให้ภาครัฐเห็นว่าแรงงานนอกระบบมีตัวตนและจับมือไปด้วยกันกับภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญแก่แรงงานนอกระบบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแนวทางการปฏิรูปประเทศ ตามกรอบกระบวนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ ที่ได้ตั้งเป้าหมายในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ในระบบให้มากที่สุด เพื่อให้เข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม โอกาสในการประกอบอาชีพและอื่นๆ ซึ่ง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญและติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดเช่นกัน




Preview

Download Images

            สำหรับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ สู่การปฏิบัติ จะเน้น ๓ เรื่องหลัก คือ 1) การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคม 2) การเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อขยายโอกาสการมีงานทำ และ 3) การพัฒนาสมรรถนะการบริหารจัดการ ซึ่งทั้งสามเรื่องจะนำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันทั้งในภาครัฐที่จะต้องจับมือกันทั้ง 9 กระทรวง 20 หน่วยงาน เพื่อให้แรงงานนอกระบบที่มีอยู่กว่า 21.3 ล้านคน จากกลุ่มผู้ที่ทำงานทั้งหมด 38.3 ล้านคน ได้รับโอกาสและเข้าถึงบริการของรัฐ อาทิ ความสามารถด้านอาชีพ การคุ้มครองทางสังคม การเข้าถึงแหล่งทุน สุขภาพอนามัย เป็นต้น
            กระทรวงแรงงาน ได้ตั้งเป้าหมายที่จะดูแลแรงงานนอกระบบให้มีหลักประกันความมั่นคงด้านสังคม และมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีให้ทั่วถึงทุกคน วันนี้ถือเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของภาคส่วนต่าง ๆ เพราะการสัมมนาครั้งนี้เป็นการบูรณาการระหว่างกระทรวงแรงงาน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายกลุ่มผู้นำแรงงานนอกระบบนำร่องทั้ง ๑๕ จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ นครปฐม ราชบุรี น่าน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ อุดรธานี ขอนแก่น สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร
          “ข้าราชการกระทรวงแรงงาน ต้องเข้าหากลุ่มแรงงานนอกระบบ รู้จักเข้าถึง รู้ว่าเขาต้องการอะไร ที่สำคัญต้องทราบข้อมูลของกลุ่มแรงงานนอกระบบว่าอยู่ที่ไหนบ้าง ประกอบอาชีพอะไร เขาต้องการพัฒนาอาชีพอะไร ได้เข้าถึงแหล่งทุนและระบบการคุ้มครองทางสังคมหรือไม่ หากเราทราบข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นโอกาสดีที่กลุ่มแรงงานนอกระบบจะเข้าถึงบริการที่ควรจะได้รับจากภาครัฐ”ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว


——————————————

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
4 เมษายน 2560

 

TOP