Skip to main content

ก.แรงงาน บูรณาการแก้ไขปัญหาแรงงานยกระดับศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ

รายละเอียดเนื้อหา

            นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มุ่งมั่นทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน อาทิ การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ การกดขี่แรงงานรวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีมาตรการตรวจสอบบังคับใช้เข้มงวด ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยควบคุมดูแลให้สถานประกอบการปฏิบัติต่อแรงงานตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ตลอดจนมาตรการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานทุกสัญชาติในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน โดยได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายใหม่ ๆ ที่เน้นการควบคุมและตรวจตราอย่างเข้มงวดเพื่อการคุ้มครองแรงงาน ผ่านกระบวนการตรวจแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กำหนดเป้าหมายการตรวจแรงงานครอบคลุมสถานประกอบกิจการทุกขนาด และทุกประเภทกิจการ ตามลำดับของสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์รวมทั้ง กำหนดมาตรการปฏิรูปการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV องค์การระหว่างประเทศ (ILO)ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ทั้งไทยและต่างประเทศ อย่างใกล้ชิดโดยยึดแนวทางตามกรอบนโยบายในรูปแบบ 5P ได้แก่ นโยบาย (Policy) การคุ้มครอง (Protection)
การบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) การป้องกัน (Prevention)และการมีส่วนร่วม (Partnership) ซึ่งมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานมาตามลำดับ เช่น การปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเพิ่มอัตราโทษการใช้แรงงานเด็ก แรงงานในกิจการประมง กฎหมายเกี่ยวกับการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน การยื่นจดทะเบียน สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับ ต่อ ILO (อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006และอนุสัญญาฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006)การจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว การจัดตั้งศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้าง เป็นต้น
           โฆษกกระทรวง กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ยังได้กำหนดเป้าหมาย “วางรากฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายแบบครบวงจร” ใน 2 มิติ คือ มิติการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และมิติการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายซึ่งครอบคลุมกิจกรรม 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) การจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ TIP Report 2) การแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง 3) การแก้ไขปัญหาแรงงานในกิจการปศุสัตว์ 4) การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว 5) การส่งเสริมการไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว และ 6) การแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับ/แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายทั้งนี้ สำหรับการบริหารจัดการแรงงานในภาคประมง ได้ปฏิรูปตั้งแต่กระบวนการจัดหาแรงงานอย่างเป็นระบบด้วยการนำเข้าตามกรอบ MOU สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการทำประมงที่มีประสิทธิภาพเข้ามาทดแทนการใช้แรงงาน การพัฒนาเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้ตอบโจทย์เทคโนโลยี การสร้างแรงจูงใจในการจ้างงานด้วยการยกระดับสภาพการทำงาน สวัสดิการ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ โดยสุดท้ายจะต้องยกระดับสู่มาตรฐานสากลตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง เพื่อเป็นการประกัน “ความสุข” ให้กับ “แรงงานทุกคน” ที่มาทำงานบนเรือ“ในภาพรวมของการแก้ไขปัญหาแรงงาน กระทรวงแรงงานมีทิศทางชัดเจนที่จะขับเคลื่อนกระบวนการบริหารจัดการแรงงานไปสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า จาก Manpower ไปเป็น Brain Power ยุคที่คนทำงานด้วยปัญญา สามารถใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำไปสู่ผลิตภาพที่มีผลตอบแทนสูง มีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตระดับมาตรฐานสากล คนทำงานทุกกลุ่มมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน” โฆษกกระทรวงกล่าวในท้ายที่สุด


———————————————-
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/6 เมษายน 2560

TOP