ก.แรงงาน ประชุมวิชาการปฏิรูประบบบำนาญของไทย หารือหน่วยงานเกี่ยวข้องบริหารจัดการอย่างมีระบบ มีกฎหมายรองรับ มีองค์กรระดับชาติดูแล เปิดโอกาสให้สามารถโอนสิทธิประโยชน์ระหว่างกองทุนได้ เผย ปี 2579 ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ขณะที่ข้อมูล สศช. พบ ผู้สูงอายุร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน “ปลัดแรงงาน” ย้ำ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับตัว รู้จักประหยัดอดออม วางแผนเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างมีคุณค่า
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อ การปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย (Thailand pension Reform) และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระบบบำนาญภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยกล่าวว่า ปี 2560 ตัวเลขผู้สูงอายุในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 17 จากประชากรทั้งหมด ในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และในปี 2579 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) โดยมีวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยจะต้องมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ยึดมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้คนไทยรู้จักประหยัดอดออม ซื่อสัตย์สุจริต ใฝ่รู้ โดยกรอบการพัฒนาที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ จะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เป็นกลไกในการพัฒนาซึ่งทั้งยุทธศาสตร์และแผนงานของชาติจะมุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต รวมถึงการสร้างโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันทางสังคม
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า เป็นความโชคดีของคนไทยที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาตาม “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปรับตัวรองรับเข้าสู่การเป็นประชากรผู้สูงอายุที่มีคุณค่าอย่างสมบูรณ์ในอนาคตซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 8 ขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นนโยบายของรัฐจะทำให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพที่ดีในเรื่องการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม การจ้างงานอย่างเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ที่สำคัญมีการวางแผนชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 34.3 ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน รัฐจึงต้องวางแผนเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีการออมให้มากขึ้น โดยการบริหารจัดการระบบบำนาญของชาติให้มีระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบ มีกฎหมายรองรับ มีองค์กรระดับชาติดูแลในภาพรวม เปิดโอกาสให้สามารถโอนสิทธิประโยชน์ระหว่างกองทุนได้ เพื่อให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรมและถ้วนหน้า
———————————-
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
20 กันยายน 2560