วันที่ 10 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล เรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมประชุม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบแอพพลิเคชั่น : Zoom Cloud Meetings ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายและเป้าหมายให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศในปี 2567 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 รับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ กระทรวงแรงงานได้มีข้อสั่งการที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ให้แรงงานจังหวัดหารือร่วมกับสภาหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และความต้องการของนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบหากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำความเห็นความต้องการมากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามมาตรการต่อไป รวมถึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ร่วมกันประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดตามกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาฯ ให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาต่อไป
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
——————————-
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์