เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อก้าวไปอย่างยั่งยืน” ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยมี นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย
นายสุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานตามหลักสากล ซึ่งปัจจุบันเป็นยุคของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และมีการนำมาตรฐานแรงงานมาเชื่อมโยงกับการค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถ ในการแข่งขันที่สูงขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างทั้งสองหน่วยงานโดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจกุ้งแบบครบวงจรในประเทศไทย เป็นการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาสถานประกอบกิจการ และห่วงโซ่อุปทานตลอดสายการผลิต เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน โดยปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย ส่งผลให้มีกลุ่มธุรกิจเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน สินค้าบริการได้รับการยอมรับจากลูกค้าว่าผลิตสินค้าได้อย่างมีจริยธรรมและปราศจากการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ สาระสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ก็เพื่อที่จะให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจกุ้งครบวงจร เขตประเทศไทย และสถานประกอบกิจการในห่วงโช่อุปทาน ได้ประสานความร่วมมือรณรงค์ส่งเสริม ตระหนักและเห็นความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน และนำมาตรฐานแรงงานไทยมาปฏิบัติ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานไทยและนำมาใช้บริหารจัดการแรงงานในสถานประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบทางสังคม และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย นอกจากนี้ ในแต่ละฝ่ายยังสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานไทยในสถานประกอบกิจการให้ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งสามารถขอรับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยหรือประกาศแสดงตนเองและสามารถธำรงรักษาระบบมาตรฐานแรงงานไทยไว้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานอย่างมีความรับผิดชอบทางสังคม สนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านมาตรฐานแรงงานไทยร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานด้วยระบบมาตรฐานแรงงานไทยอีกด้วย
“ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สถานประกอบการดำเนินการด้านมาตรฐานแรงงานไทย การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในวันนี้ จึงถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยในสถานประกอบกิจการและในห่วงโซ่อุปทานตลอดสายการผลิต เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานของธุรกิจ ลดปัญหาทางการค้า ทำให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สถานประกอบการอื่น ๆ ต่อไป” นายสุเทพ กล่าวในท้ายสุด
—————————————
17 กุมภาพันธ์ 2565
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์