Skip to main content

ก.แรงงาน ลงใต้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ต่อยอดวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง

รายละเอียดเนื้อหา

          วันที่ 20 สิงหาคม 2565 นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายอำเภอท่าฉาง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเคย ประธานกรรมการบริษัทบ้านสวยกรุ๊ปจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ผู้นำชุมชน หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน สมาชิกกลุ่มอาชีพและสื่อมวลชน ร่วมต้อนรับ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหาร หมู่ที่ 6 ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          นางบุปผา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้ได้รับความรู้ทักษะฝีมือ สร้างความเข้มแข็งและมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนของประเทศสอดคล้องกับนโยบายของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการยกระดับศักยภาพและดูแลสิทธิแรงงานนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองเพื่อรองรับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และในวันนี้ดิฉันได้ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย รวมถึงกลุ่มผลิตอาหารไก่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพจากกระทรวงแรงงาน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย ได้รับงบประมาณในการอบรมหลักสูตรการแปรรูปอาหาร ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม อาทิ กะปิสวรรค์ น้ำพริกเผากุ้ง กะปิคลุ้งคลิ้ง ไส้กรอกกุ้ง ซาลาเปากุ้ง และซอสกะปิปรุงรส เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้เริ่มแรกมีสมาชิกกลุ่มเข้าร่วมฝึก จำนวน 16 คน เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกับสำนักงานแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          นางบุปผา กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เล็งเห็นถึงสำคัญในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับแรงงานจากโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ให้กับประชาชน นอกเหนือจากการทำการเกษตร อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เพิ่ม เป็นการดูแลแรงงานกลุ่มเปราะบางให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการรักษาภูมิปัญญาของอาชีพที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชนไว้เป็นอย่างดี เป็นการพัฒนาต่อยอดวิสาหกิจชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอีกด้วย

++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

 

TOP