กระทรวงแรงงาน โดย สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร โดยเชิญประธานอาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานคร ประธานอาสาสมัครแรงงานเขตพื้นที่ 10 เขต อาสาสมัครแรงงานที่ทำหน้าที่ผู้ประสานงานเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ 1.เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงแรงงาให้อาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานคร นำไปปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.เพื่อให้เกิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานครและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ 3.เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ รวม 120 คน ทั้งนี้ มีการชี้แจงภารกิจของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ที่จะมอบหมายให้อาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานคร นำไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ และมีผลการพิจารณาการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานของอาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1. การสนับสนุนอาสาสมัครแรงงานเข้าเป็นเครือข่ายของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงแรงงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
2. การสำรองค่าใช้จ่ายให้แก่อาสาสมัครแรงงาน ที่เป็นเครือข่ายประกันสังคม มาตรา 40 ในการจัดเวทีเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40
3. การออกบัตรประจำตัวเพื่อแสดงตนเป็นเครือข่ายประกันสังคม มาตรา 40 ให้กับอาสาสมัครแรงงาน
4. การพิจารณาสิทธิประโยชน์ กรณีเจ็บป่วย โดยจ่ายค่าทดแทนการขาดรายได้ ให้แก่ ผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านให้เท่าเทียมกับการพักรักษาในโรงพยาบาล
5. การสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ให้กับอาสาสมัครแรงงาน เพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ
6. การประชาสัมพันธ์อาสาสมัครแรงงาน ที่เป็นเครือข่ายประกันสังคม มาตรา 40 ให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
7. การประชาสัมพันธ์กิจการที่ให้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อการติดต่อขอรับงาน
8. การพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ยืมเงินกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านให้เท่าเทียมกัน
9. การสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ โดยการเพิ่มทักษะฝีมือให้กับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
10. การจัดหาพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาฝีมือให้แก่อาสาสมัครแรงงาน
11. การจัดฝึกอบรมวิชาชีพเฉพาะ เช่น การดูลายมือ เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ
12. การสนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
———————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์