Skip to main content

ก.แรงงาน สัมมนา เปิดบ้านเปิดใจ เมื่อเทคโนโลยี AI สะเทือนตลาดแรงงานโลก : แรงงานไทยจะเป็นอย่างไร

รายละเอียดเนื้อหา

            กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนาทางวิชาการด้านแรงงาน “เปิดบ้านเปิดใจ เมื่อเทคโนโลยี AI สะเทือนตลาดแรงงานโลก : แรงงานไทยจะเป็นอย่างไร” ระดมความคิด ๓ ฝ่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคแรงงาน นำผลลัพธ์ที่ได้กำหนดนโยบายและแนวทางการทำงานของกระทรวงให้ตรงจุด ตรงประเด็น และตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน




Preview

Download Images


            วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๑ นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการด้านแรงงาน เรื่อง “เปิดบ้านเปิดใจ เมื่อเทคโนโลยี AI สะเทือนตลาดแรงงานโลก : แรงงานไทยจะเป็นอย่างไร” ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางสังคมและเทคโนโลยี ประเทศชั้นนำในโลกยุคปัจจุบันล้วนแต่อยู่บนพื้นฐานของการใช้ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เรียกว่า AI เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์มากขึ้น เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีจำนวนหุ่นยนต์ต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังจะส่งผลอย่างยิ่งต่อการทำงานในอนาคต และเป็นเรื่องที่สร้างความท้าทายให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการเตรียมรับมือกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำเสนอรายงานผลวิจัยว่า ในปี ๒๐๑๖ การใช้หุ่นยนต์ในประเทศไทยถึงร้อยละ ๕๐ กระจุกใน ๓ อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในเครื่องจักรสูง ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก เนื่องจากหุ่นยนต์ช่วยได้ในลักษณะงานที่มีระเบียบ แบบแผน งานทำซ้ำ ประหยัดต้นทุนโดยไม่ต้องจ้างแรงงานที่มีค่าจ้างแรงงานที่สูง ช่วยงานที่เสี่ยงต่ออันตรายสำหรับแรงงาน โดยหุ่นยนต์กว่าร้อยละ ๙๐ ทำงานเชื่อมเหล็ก และใช้หุ่นยนต์ทำงานที่นอกเหนือไปจากความสามารถที่คนจะทำได้ เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่ได้ รวมถึงบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระบุว่า การขาดแคลนแรงงานทักษะเป็นปัญหาหลัก มีปัญหารุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมถึง ๓ เท่า ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ เช่น ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือกระดาษ เป็นกลุ่มที่คาดว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่ได้ช้า เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านความสามารถของสมองกล


            “ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการปลดคนงานออกจากการนำหุ่นยนต์มาใช้ แต่ก็ไม่ทราบได้ว่าจะมีการปลดคนงานครั้งใหญ่ในอนาคตหรือไม่ ซึ่งไทยไม่สามารถนิ่งนอนใจกับกระแสนี้ได้ อีกทั้งไทยมีศักยภาพในการนำหุ่นยนต์มาใช้ และต้นทุนของหุ่นยนต์จะปรับลดลงพร้อมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ผู้ประกอบการอาจใช้หุ่นยนต์มาแทนที่คนทำงาน ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญในการเตรียมการด้านนโยบาย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาทักษะของแรงงานที่ตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นภารกิจโดยตรงของกระทรวง และเพื่อความชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกันจะต้องอาศัยความคิดของทั้ง ๓ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคแรงงาน เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้จากการสัมมนาไปใช้ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการทำงานของกระทรวงแรงงานได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น และตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วนนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจตามกลไกประชารัฐต่อไปในอนาคต” นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด


—————————————


กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

๑๙ เมษายน ๒๕๖๑

กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว ภาพ

TOP