Skip to main content

ก.แรงงาน เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในระดับภูมิภาคของILO ครั้งที่ 4 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

รายละเอียดเนื้อหา

            การประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในระดับภูมิภาคของ ILO ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-12 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์




Preview

Download Images

            นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในระดับภูมิภาคของILO ครั้งที่ 4 จัดขึ้นโดย ILO และองค์กรอาชีวศึกษาและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (TESDA) ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะทำงานด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้หารือความก้าวหน้า

และพัฒนาการของ ILO’s Mutual Recognition of Skills (MRS) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมการดำเนินงานภายใต้กรอบกฎหมายและการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางสถาบันเพื่อขับเคลื่อน MRS ตลอดจนหารือทิศทางการขับเคลื่อน MRS ในอนาคตผ่านโครงการนำร่อง (pilot project) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

            หัวข้อหลักในการประชุมประกอบด้วยการบรรยายในประเด็นโอกาสและความท้าทายของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความก้าวหน้าการดำเนินงานเรื่องกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ (TVET) แนวคิดริเริ่มและกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อน MRS และการอภิปรายเรื่องการขับเคลื่อน MRS ผ่านแนวทางการดำเนินงาน (roadmap) และแผนการดำเนินงานระดับประเทศ (national action plan) 

            ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเป็นผู้แทนที่เป็นผู้ประสานงานหลักด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งเคยเข้าร่วมงานประชุมที่เกี่ยวกับ MRS และผู้ประสานงานหลักเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านแรงงาน (SLOM) สำนักเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้แทนองค์กรนายจ้าง ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง สมาพันธ์นายจ้างอาเซียน และสหภาพแรงงานอาเซียน รวมทั้งสิ้น 60 คน โดยมีผู้แทนสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สป. และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจากประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมด้วย

            ในโอกาสนี้ ประเทศไทยได้หารือทวิภาคีกับเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชาเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับประเทศ พ.ศ. 2561-2562 เพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมยกระดับทักษะฝีมือแรงงานตลอดจนส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงานของผู้ฝึกสอน (instructor) จากประเทศเพื่อนบ้านให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศไทย ในสาขาที่ประเทศไทยมีความต้องการเพื่อตอบสนองต่อตลาดแรงงาน ได้แก่ การก่ออิฐ และการเดินระบบไฟฟ้า กับกัมพูชา การก่ออิฐ และการฉาบปูนกับ สปป.ลาว และ การใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง กับเมียนมา

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ 
สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
16พฤษภาคม 2561

 

TOP