วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.30 น. นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อรายงานการวิจัยต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker) โดยมี ดร.จำลอง ช่วยรอด คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมรับฟังการประชุมฯ ณ ห้องประชุม อีเทอร์นิตี้บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) โดยกล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ยังขาดการคุ้มครอง ขาดการส่งเสริม ขาดการพัฒนา และขาดการมีหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม จึงได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎหมาย ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว นับได้ว่าเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา และมีหลักประกันทางสังคม นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและทำงานคู่ขนาน ก่อนถึงการบังคับใช้กฎหมาย กระทรวงแรงงาน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker) ซึ่งแรงงานแพลตฟอร์มถือเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มหนึ่ง ที่ปัจจุบันมีผู้เลือกประกอบอาชีพนี้จำนวนมาก และพบว่ามีปัญหาเรื่องสภาพการทำงาน ค่าตอบแทน ความปลอดภัยในการทำงาน และสวัสดิการ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของกระทรวงแรงงาน ในการแสดงบทบาทและการปฏิรูประบบการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ด้วยการบูรณาการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และเปิดโอกาสให้สังคม ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งผ่านการศึกษาวิจัยในเชิงวิชาการให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาของสังคมได้อย่างแท้จริง รวมทั้งทำให้ผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อเสนอไปใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย แนวทาง และทิศทางการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับ การสัมมนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไปประกอบการปรับปรุงข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตแรงงานแพลตฟอร์มให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และตัวแทนกลุ่มคนทำงานแพลตฟอร์ม รวมทั้งสิ้น 130 คน
———————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์