เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานและปาฐกถาพิเศษงานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับนานาชาติ OSH Avenue International Conference 2022 หรือ OAIC โดยมี นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
นายสุทธิ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเฉพาะตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องความปลอดภัยมาจากบทเรียนของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในระหว่างวิกฤตโควิดนั้น กระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบและเยียวยาคนทำงานไปจนถึง แรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าวนับแต่การตรวจโควิด การฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 การจัดหาเตียง Hospitel และการเยียวยาผู้ประกันตน และผู้ประกอบการเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคการผลิต และภาคส่งออกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของ WHO และชุมชนระหว่างประเทศโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง
นายสุทธิ กล่าวต่อว่า การจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการระดับนานาชาติ OAIC ในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะการได้ร่วมฟังเสวนาวิทยากรที่มีชื่อเสียง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเครือข่ายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อยกระดับมาตรฐานของงานด้านนี้และสอดคล้องกับนโยบาย Safety Thailand ของกระทรวงแรงงานกำหนดขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างองค์ความรู้ สร้างกระบวนการรับรู้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติด้านความปลอดภัย และเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยขึ้น ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล รวมถึงนโยบายที่สำคัญของกระทรวงแรงงานในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ รองรับนโยบายเปิดประเทศและเศรษฐกิจใหม่ โดยการยกระดับการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้เป็นแรงงานที่สามารถปรับตัวรับมือกับการทำงาน หรืองานใหม่ได้อย่างต่อเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีการค้าโลก อีกทังเพื่อการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้สอดคล้องกับสภาวะสังคม เศรษฐกิจ และรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
นายวรานนท์ ปีติวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Foresight for Safe มองการณ์ไกลความปลอดภัยในการทำงาน” กิจกรรมภายในงาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เวทีการเสวนาพิเศษจากเหล่า Keynote Speakers ที่มีชื่อเสียงในการถ่ายทอดแรงบันดาลใจรวมถึงมิติการส่งเสริมความปลอดภัยของการดำเนินชีวิตการทำงานแก่สังคม ส่วนที่สองเป็นเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน และส่วนที่สามเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น
———————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์