Skip to main content

ก.แรงงาน เผย ‘ยุทธศาสตร์พัฒนาคน’ ก้าวสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’

รายละเอียดเนื้อหา

ก.แรงงาน เปิดเผยกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) สร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” แก่แรงงาน แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) Productive Manpower 2) Innovation Workforce 3) Creative Workforce   และ 4) Brain Power  เพื่อก้าวสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 

 
          นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้วางแนวทางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อสร้างความ “มั่นคง”ให้กับแรงงานมีหลักประกันที่ดี ได้ทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ได้รับสวัสดิการแรงงานที่เหมาะสม มีศักยภาพได้มาตรฐานสากล และเพื่อสร้างความ “มั่งคั่ง” ให้แรงงานมีรายได้สูง (High Income) มีผลิตภาพแรงงานสูง (High Productivity) นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่าง “ยั่งยืน” 
          ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) Productive Manpower (พ.ศ. 2560-2564) โดยการขจัดอุปสรรคด้านแรงงานในการพัฒนาประเทศ เร่งพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานด้านแรงงาน  ให้เป็นสากล มุ่งเน้นให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม มีความปลอดภัย ส่งเสริมให้แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีทักษะที่หลากหลาย (Multi-Skilled) และเติมทักษะให้แก่แรงงาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างราบรื่นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาแรงงานให้มีทักษะด้าน STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งเป็นทักษะของแรงงานยุคไทยแลนด์ 4.0 สร้างระบบการจ้างงานที่เอื้อต่อแรงงานสูงวัยอย่างครบวงจร 2) Innovative Workforce (พ.ศ. 2565-2569) โดยการพัฒนาแรงงานให้สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะด้าน STEM เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับต่อยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นรองรับรูปแบบการจ้างงานใหม่  ในยุคดิจิตัล และพัฒนาแรงงานให้มีความพร้อมในการทำงานภายใต้สังคมที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และการจ้างงานข้ามแดน 3) Creative Workforce (พ.ศ. 2570-2574) เพิ่มจำนวนคนที่มีทักษะด้าน STEM เพื่อให้เป็นกำลังคนที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง (High Productivity) เพื่อให้มีรายได้สูง (High Income) และประเทศสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap : MIT) 4) Brain Power  (พ.ศ. 2575-2579) ดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเพิ่มจำนวนกำลังคนที่มีทักษะด้าน STEM และสร้างกำลังคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานต่อไปด้วย 
 
+++++++++++++++++++
 
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ปริยรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร ข่าว/4 มกราคม 2560
 

 

TOP