รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เยือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น มุ่งพัฒนาแรงงานสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ดร.ภาคิน สมมิตรธรกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย ต.ปอแดง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่ดําเนินกิจกรรมกลุ่มเกี่ยวกับการทอผ้าไหม ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมครบวงจร กิจกรรมปลูกผักปลอดภัย และกิจกรรมแบบผสมผสานตามแนวพระราชดําริ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ได้มีการจัดแบ่งหน้าที่ มีการรวมหุ้นเพื่อนำทุนมาใช้ประกอบกิจการกลุ่ม นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี มีการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในชุมชน ระดับตําบล ระดับอําเภอ ระดับจังหวัด และทางออนไลน์ จนสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา การทอผ้าถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้หญิงชาวอีสาน เพราะจะต้องทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงอีสานต้องเรียนรู้และฝึกหัดการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของสตรีทำงานทุกคน เนื่องจากเป็นกำลังสำคัญต่อการสร้างสรรค์สังคมที่ดีทั้งในระดับครอบครัวตลอดไปจนถึงระดับชาติ โดยกระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานสตรีได้รับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ มุ่งพัฒนาแรงงานสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนรณรงค์สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมบทบาทของสตรีทำงาน และความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อให้สตรีทำงานได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ได้อย่างมั่นคงต่อไป จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระทุกกลุ่มอาชีพสมัครประกันสังคม มาตรา 40 โดยจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถทำได้ง่าย เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียว ยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือสมัครที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) เคาน์เตอร์บิ๊กซี เทสโก้โลตัส หรือเคาน์เตอร์ธนาคาร และสามารถหักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยฟรีค่าธรรมเนียม
“การส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานสตรีได้รับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ มุ่งพัฒนาแรงงานสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนรณรงค์สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมบทบาทของสตรีทำงาน จะทำให้กลุ่มสตรีได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ได้อย่างมั่นคงต่อไป” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด
——————————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
29 สิงหาคม 2563