“รัฐมนตรีแรงงาน”ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านแรงงานใน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามแผนวาระปฏิรูปแรงงาน 8 + 1 การขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 รวมทั้งตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะมีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 9 ม.ค.60 เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านแรงงานตามนโยบายรัฐบาลของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อนำไปสู่ ‘ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะได้ติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตามที่ได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวาระปฏิรูปเร่งด่วน 8 +1 ประกอบด้วย 1) เสริมสร้างบุคลากรให้มีธรรมาภิบาลเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดทุจริต (Zero Corruption) 2) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ 3) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานผิดกฎหมาย 4) ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ (คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ) 5) มิติใหม่การส่งเสริมการมีงานทำ 6) Safety Thailand 7) การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0 และ 8) ปฏิรูปบทบาทกระทรวงแรงงาน รวมทั้งแผนงาน/โครงการการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ซึ่งเป็นวาระการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในระยะ 20 ปี ของกระทรวงแรงงาน โดยติดตามผลว่า ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดได้ขับเคลื่อนงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงและเป็นไปตามนโยบายที่ให้ไว้หรือไม่อย่างไรรวมทั้งให้ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการทำงาน
ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย รมว.แรงงาน และคณะ จะได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เนื่องจากสถาบันแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Sub – region GMS) ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน (มณฑลยูนนาน) สหภาพเมียนมา เวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา และไทย ในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป
——————————–
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
8 มกราคม 2560