“รัฐมนตรีแรงงาน” และคณะ เตรียมเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 23-24 ม.ค. 60 ณ โรงแรม Cinnamon Laheside กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา กระชับความร่วมมือประเทศผู้รับ – ผู้ส่งแรงงาน พร้อมหารือแนวปฏิบัติสู่การพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานที่เดินทางไปทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราว มาตรการป้องกันการจัดหางานผิดกฎหมาย ส่งเสริมสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะมีกำหนดการเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2560 ณ โรงแรม Cinnamon Laheside กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ตามคำเชิญของกระทรวงการจ้างงานต่างชาติศรีลังกา โดยมีผู้แทนจาก 20 ประเทศ พร้อมองค์การระหว่างประเทศ 5 องค์กร
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มีหัวข้อหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย 3 หัวข้อ ได้แก่ การคัดเลือกแรงงาน กรอบนโยบายที่มุ่งเน้นด้านฝีมือในการรับแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ตลาดปลายทาง และการบูรณาการแรงงานคืนสู่ประเทศต้นทาง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการบริหารแรงงานเพื่อให้สามารถบริหารจัดการแรงงานดิจิทัลในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น
การประชุม Abu Dhabi Dialogue (ADD) เกิดจากกรอบภายใต้ความร่วมมือของประเทศผู้ส่งออกแรงงานในเอเชีย ที่เป็นประเทศสมาชิก Colombo Process (CP) 11 ประเทศ กับกลุ่มประเทศผู้รับแรงงาน 7 ประเทศ โดยมีมาเลเซียและสวิสเซอร์แลนด์เป็นผู้สังเกตการณ์ สำหรับการประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการที่ทำให้ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งแรงงานจะได้หารือกับประเทศผู้ส่งแรงงานอื่นๆ และประเทศผู้รับแรงงานในอ่าวอาหรับถึงแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบดูแลและการบริหารจัดการแรงงานที่เดินทางไปทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านแรงงานของประเทศไทยจะได้กระชับความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศผู้รับแรงงาน ตลอดจนหาวิธีและสร้างมาตรการที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันการจัดหางานที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมสวัสดิการและการคุ้มครองเพื่อให้แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในทุกรูปแบบ ด้วยการสนับสนุนจากองค์การแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นการดูแลแรงงานไทยซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 30,000 คน ที่เดินทางไปทำงาน
ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอีกด้วย
————————————–
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
20 มกราคม 2560