Skip to main content

“บิ๊กบี้” ยัน แรงงานไม่ขาดแคลน

รายละเอียดเนื้อหา

           นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้มุ่งเน้นดูแลพัฒนาฝีมือแรงงานไทยทุกกลุ่ม เพื่อสนองตอบความต้องการแรงงานในทุกอุตสาหกรรม ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของความสำเร็จอยู่ที่การวางรากฐานในช่วง ๕ ปีแรก โดยได้บูรณาการกับอีก ๑๕ หน่วยงาน จัดทำยุทธศาสตร์ระยะ ๕ ปีแรกภายใต้ “แผนแม่บทด้านแรงงาน (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔)”โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0
          นายอนันต์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูลความต้องการแรงงานกลุ่ม First S – curve และ New S – curveใน 10 อุตสาหกรรม ในปี 2560 – 2564 พบว่า มีความต้องการแรงงานในภาพรวมเฉลี่ย 69,242 คนต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีความต้องการแรงงานเฉลี่ยต่อปีมากที่สุด จำนวน 18,558 คน รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จำนวน 10,794 คน และอุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวน 9,192 คน ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการเตรียมแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตนั้น กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ดังนี้
          ในปี 2560 ความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 72,440 คน ได้ทำการฝึกเตรียมคนไว้ รวมทั้งสิ้น 205,281 คน แบ่งเป็นการฝึกคนเตรียมเข้าทำงาน 6,540 คน พัฒนาศักยภาพแรงงานใหม่ จำนวน 7,700 คน และทวิภาคี/สหกิจศึกษา จำนวน 191,041 คน นอกจากนี้ มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ทหารก่อนปลดประจำการ เป้าหมายอีก 3,000 คน
          ในปี 2561 ความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 70,525 คน ได้ทำการฝึกเตรียมคนไว้ รวมทั้งสิ้น 191,850 คน แบ่งเป็นการฝึกคนเตรียมเข้าทำงาน 10,000 คน พัฒนาศักยภาพแรงงานใหม่ จำนวน 15,400 คน และทวิภาคี/สหกิจศึกษา จำนวน 166,450 คน นอกจากนี้ มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ทหารก่อนปลดประจำการ เป้าหมายอีก 10,000 คน
          ในปี 2562 ความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 68,933 คน ได้ทำการฝึกเตรียมคนไว้ รวมทั้งสิ้น 179,337 คน แบ่งเป็นการฝึกคนเตรียมเข้าทำงาน 10,410 คน พัฒนาศักยภาพแรงงานใหม่ จำนวน 23,100 คน และทวิภาคี/สหกิจศึกษา จำนวน 145,827 คน 
         ในปี 2563 ความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 67,647 คน ได้ทำการฝึกเตรียมคนไว้ รวมทั้งสิ้น 167,613 คน แบ่งเป็นการฝึกคนเตรียมเข้าทำงาน 10,841 คน พัฒนาศักยภาพแรงงานใหม่ จำนวน 23,100 คน และทวิภาคี/สหกิจศึกษา จำนวน 133,673 คน
         ในปี 2564 ความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 66,666 คน ได้ทำการฝึกเตรียมคนไว้ รวมทั้งสิ้น 156,482 คน แบ่งเป็นการฝึกคนเตรียมเข้าทำงาน 11,293 คน พัฒนาศักยภาพแรงงานใหม่ จำนวน 23,100 คน และทวิภาคี/สหกิจศึกษา จำนวน 122,089 คน
           นายอนันต์ชัย กล่าวอีกว่า นอกจากอุตสาหกรรมหลักดังกล่าวแล้ว กระทรวงแรงงาน ยังได้เตรียมกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างและตลาดแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมย่อยต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะความต้องการแรงงานในประเภทกิจการที่คนไทยไม่นิยมทำ ส่วนแรกได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 2,615,703 คน รวมทั้งการนำเข้าแรงงานตาม MOU กับเวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับ 41 บริษัทนำเข้าแรงงานของไทย นอกจากนี้ยังมีแรงงานพื้นที่สูง จำนวน 560,00 คน ที่ได้รับการอนุญาตให้ทำงานตามความรู้ความสามารถทุกประเภทงาน รวมทั้งการฝึกทักษะให้ทหารประจำการ เมื่อปลดออกไปแล้วสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานตามที่กระทรวงแรงงาน
ทำ MOA กับกระทรวงกลาโหมไว้แล้ว
           “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เน้นย้ำว่า ขอให้ภาคเอกชนมั่นใจได้ว่า กระทรวงแรงงานสามารถตอบสนองความต้องการแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศได้โดยแรงงานที่จบใหม่จะได้รับการพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นและตรงกับความต้องการก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาตามความต้องการของนายจ้างจะนำเข้ามาตามระบบ MOU เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องปรับกระบวนการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย รวมทั้งมีแนวทางในการรักษาคนเพื่อให้อยู่ในระบบได้ เพื่อรองรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะให้อยู่ในอุตสาหกรรมหลักได้ ก็จะพัฒนาไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุข” นายอนันต์ชัย กล่าว


————————————–


กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
24 กุมภาพันธ์ 2560

 

TOP