รมว.แรงงาน มอบนโยบายหัวหน้าสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ ย้ำผู้ตรวจราชการกระทรวงต้องทำงานกันอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถเพื่อสร้างความมั่นใจแก่แรงงานในต่างประเทศ จะได้รับการดูแลที่ดี ได้รับประโยชน์และผลตอบแทนที่คุ้มค่าไม่น้อยกว่าทำงานอยู่ในประเทศ
Preview
Download Images
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายให้หัวหน้าสำนักงานแรงงานในต่างประเทศณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานวันนี้ (10 ม.ค. 2560 )โดยกล่าวว่า “นโยบายความสัมพันธ์และตลาดแรงงานในต่างประเทศเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญเพราะในแต่ละปีนั้นแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศได้สร้างรายได้ส่งกลับเข้าประเทศมากกว่าแสนล้านบาทต่อปีซึ่งทุกท่านในที่นี้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงาน ในการดูแลพี่น้องแรงงานเหล่านั้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศเป็นวาระระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผมและคณะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานได้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 16 ที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง ของ Mega-Trendsหรือ แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกของการทำงาน ซึ่งโลกาภิวัตน์ (Globalization) และกระแสของการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศก็เป็นหนึ่งในนั้น
สำหรับประเทศไทย บทบาทของเรากำลังเปลี่ยนไปจากการเป็นประเทศผู้ส่งเป็นประเทศผู้รับ ทำให้มีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในฐานะของประเทศปลายทางผู้รับแรงงาน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทั้งในบทบาทของประเทศผู้ส่งที่ต้องขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ มุ่งเน้นกลุ่มอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูงและสวัสดิการที่ดี รวมถึงมาตรการที่จะดูแลสวัสดิการและสิทธิด้านต่างๆ ให้แก่พี่น้องแรงงานตามหลักกฎหมายของประเทศนั้นๆ ในด้านบทบาทประเทศผู้รับ เราต้องการให้พี่น้องแรงงานของเราได้รับการปฏิบัติอย่างไร เราก็ควรปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเฉกเช่นเดียวกันซึ่งในห้วงระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน ที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ต้องถือว่าเรามีพัฒนาการเป็นอย่างมากในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระปฏิรูปเร่งด่วนทั้ง 8 ด้าน ที่มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง ทั้งการจัดทำบันทึกข้อตกลง (Agreement) กับกลุ่มประเทศ CLMV, การยกร่างปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบันคือการจัดโซนนิ่งให้แก่แรงงานต่างด้าว เพื่อให้ได้รับสิทธิพื้นฐานและความคุ้มครองตามมาตรฐานสากล เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องการให้ช่วยกันสร้างความรับรู้ให้กับคนไทยแรงงานไทยในต่างประเทศ รวมถึงคนต่างชาติได้รับทราบอย่างถูกต้อง
ขอให้ทุกคนตระหนักว่า การที่พี่น้องแรงงานไทยต้องออกจากบ้านไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในต่างประเทศ ต้องละทิ้งบ้านไปทำงานในที่ห่างไกล เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูคนในครอบครัว สร้างรายได้ สร้างเม็ดเงินกลับเข้าสู่ประเทศ ทำให้ชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ดังนั้นพวกเราต้องทำงานกันอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้มั่นใจว่าพี่น้องแรงงานจะได้รับการดูแลที่ดี ได้รับประโยชน์และผลตอบแทนที่คุ้มค่าไม่น้อยกว่าการทำงานอยู่ในประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ 13 ประเทศ 14 แห่ง ได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, ไต้หวัน (กรุงไทเป, เกาสง), มาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน, อิสราเอล, สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมนี, สาธารณรัฐเกาหลีหากแรงงานไทยมีปัญหา ต้องการติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ ทุกแห่งข้างต้น ได้ตลอดเวลา
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ปริยรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร ภาพและข่าว/10 มกราคม 2560