“รัฐมนตรีแรงงาน”ชี้แจง กรณีการผลักดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฉบับที่ 188 เผย ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อหาจุดสมดุลที่เหมาะสมร่วมกัน เกิดความเท่าเทียม เคารพสิทธิมนุษยชน ป้องกันการกีดกันทางการค้า สอดคล้องหลักปฏิบัติสากล
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม พร้อมนายกสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนเนื่องจากประสบความเดือดร้อน จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง เพื่อแก้ปัญหาไอยูยู ซึ่งการที่กระทรวงแรงงานจะผลักดันประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C 188 นั้น จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1-5 ปีข้างหน้า ในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 (2550) กระทรวงแรงงานมีเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันการทำงานบนเรือประมงให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานอย่างเหมาะสมตามหลักปฏิบัติสากล
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 จะทำให้คนงานประมง มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าตามข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานบนเรือประมง อาทิ มีข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องอายุขั้นต่ำ มีใบรับรองแพทย์ก่อนลงเรือ มีเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมง และ 77 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์มีทะเบียนลูกจ้าง สัญญาจ้าง การจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบบัญชีธนาคาร มีที่พัก อาหาร น้ำดื่มที่เพียงพอเหมาะสม มียารักษาโรคเบื้องต้นกรณีเจ็บป่วย มีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับบนฝั่ง มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับสิทธิความคุ้มครองด้านการประกันสังคม และเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น
รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนสำคัญที่จะต้องแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในประเด็นการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) การค้ามนุษย์ในเรือประมงและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในมิติด้านสิทธิมนุษยชนและการกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาหาจุดสมดุลที่ถูกต้องเหมาะสมควบคู่กัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาคกับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน
“ขอให้ผู้ประกอบการและแรงงานประมงมั่นใจได้ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด
———————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
ศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน – ข้อมูล/
25 กรกฎาคม 2561