Skip to main content

บุญสงค์ ปลัดแรงงาน เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น พร้อมขับเคลื่อนการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

รายละเอียดเนื้อหา

            วันที่ 9 ธันวาคม 67 เวลา 13.30 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น “การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง” โดยมี นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายณัฐวุฒิ ภัทรประยูร จัดหางานจังหวัดร้อยเอ็ด รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน นายเกริกไกร นาสมยนต์ ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการประกันสังคม นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง ผู้แทนสื่อมวลชน และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

            นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายสําหรับให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นเวลา 34 ปีแล้ว ที่กองทุนประกันสังคมอยู่เคียงข้างผู้ประกันตน เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับบำนาญจากสำนักงานประกันสังคม จำนวน 792,149 คน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญตลอดชีวิต ทั้งนี้ การจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้กำหนดเพดานค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 และไม่เคยมีการแก้ไขถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 34 ปี สำนักงานประกันสังคมได้ตระหนักถึงความเพียงพอและความมั่นคงของสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน จึงได้ดำเนินการ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น “การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา ผู้บริหารกระทรวงแรงงานและผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง – องค์การลูกจ้าง ผู้แทนจากพรรคการเมือง นายจ้างและลูกจ้างทั่วไป ผู้แทนสื่อมวลชน ถึงการปรับเพดานค่าจ้างในรูปแบบขั้นบันได 3 ครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อนายจ้างและผู้ประกันตน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

            – ในปี 2569 – 2571 ปรับเป็น 17,500 บาท

            – ในปี 2572 – 2574 ปรับเป็น 20,000 บาท

            – และขั้นสุดท้าย ในปี 2575 เป็นต้นไป ปรับเป็น 23,000 บาท

            ด้าน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ที่ไม่ได้อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ให้แก่ผู้ประกันตนตลอดมา เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น กรณีคลอดบุตร ในปี พ.ศ. 2538 ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินจำนวน 4,000 บาท/ครั้ง ในปัจจุบันเพิ่มเป็นเงินจำนวน 15,000 บาท/ครั้ง เงินสงเคราะห์บุตร ในปี พ.ศ. 2541 ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินจำนวน 150 บาท/เดือน/บุตร 1 คน สูงสุด 2 คน ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 800 บาท/เดือน/บุตร 1 คน สูงสุด 3 คน และในกรณีตาย เงินค่าทำศพ ในปี พ.ศ. 2538 จ่ายเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ปัจจุบันเงินเพิ่มเป็นค่าทำศพ 50,000 บาท เป็นต้น ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็น เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีว่างงาน เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จ – บำนาญชราภาพ เมื่อไม่มีการปรับฐานเพดานค่าจ้าง ทำให้ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ไว้ และไม่สอดคล้องกับค่าจ้างจริงในปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงฐานเพดานค่าจ้างให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ อันเป็นที่มาของการประชุมรับฟังความคิดในวันนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ประกันตนต่อไปในอนาคต

—————————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

TOP