Skip to main content

ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบ รองปลัดกระทรวงแรงงาน  เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการไตรภาคีเตรียมความพร้อมระดับชาติ สำหรับเวทีอาเซียนว่าด้วยแรงงานข้ามชาติ

รายละเอียดเนื้อหา

 วันที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการไตรภาคีเพื่อเตรียมความพร้อมระดับชาติ เวทีอาเซียนว่าด้วยแรงงานข้ามชาติ หัวข้อเรื่อง “งานอภิบาลดูแล และการย้ายถิ่นเพื่อการทำงานในภูมิภาคอาเซียน” (17th ASEAN Forum on Migrant Labour Thailand National Tripartite Preparatory Workshop “Care work and labour migration in ASEAN”) โดยมี นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน  หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมบางลำภู ชั้น 6   โรงแรมอมารี ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร

 นายเดชา กล่าวว่า ในวันนี้ท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ผมมาเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการไตรภาคีเพื่อเตรียมความพร้อมระดับชาติสำหรับการประชุมอาเซียนว่าด้วยแรงงานต่างด้าว (AFML) ครั้งที่ 17 ซึ่งเป็นงานประชุมที่มีความสำคัญของไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของไทยด้านการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยการประชุม AFML ในครั้งนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว ได้กำหนดหัวข้อหลัก คือ งานดูแลและการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานในอาเซียน โดยมีหัวข้อย่อย 2 หัวข้อ ได้แก่ 1) การตอบสนองต่อความต้องการด้านการดูแลผ่านการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และ 2) การเสริมสร้างการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ทำงานดูแล ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมุ่งเน้นให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินการตามหลักการของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ช่วยเหลือให้แรงงานต่างด้าวสามารถเดินทางเข้ามาทำงานยังประเทศปลายทางได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงสามารถตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้

 นายเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานต่างด้าวในฐานะกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยไปกว่าแรงงานไทย และการที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วประกอบกับรูปแบบงานที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลให้ความต้องการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน อีกทั้งประเด็นสังคมสูงวัยในภูมิภาคอาเซียนก็กำลังเป็นที่จับตามอง ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ความต้องการผู้ดูแลมีเพิ่มขึ้น ทั้งคนทำงานในบ้าน ทำสวน หรืองานดูแลส่วนตัว ทั้งดูแลผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นต้น

 “ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนต้องร่วมมือกันสำรวจความต้องการของการดูแลแรงงานประเภทไหนที่เป็นที่ต้องการในประเทศปลายทางควบคู่กับการสำรวจความพร้อมของกำลังแรงงานที่จะโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศปลายทางได้หรือไม่ ซึ่งเราจะได้มาพูดคุยกัน อภิปรายแบ่งปันข้อมูล และร่วมกันสะท้อนความคิด ตลอดจนเสนอข้อคิดเห็นและประมวลสถานการณ์ผ่านมุมมองต่าง ๆ ด้วย”นายเดชา กล่าว

TOP