Skip to main content

ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบ รักษาการที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ

รายละเอียดเนื้อหา

 

วันที่ 27 มีนาคม 2568 เวลา 09.30 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายณัฐวุฒิ ภัทรประยูร จัดหางานจังหวัดร้อยเอ็ด รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ กรณีศึกษา : พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่หรือแผงลอย และสตรีทฟู้ด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมเอส รัชดา เลเชอร์ กรุงเทพฯ

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ กรณีศึกษา : พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่หรือแผงลอย และสตรีทฟู้ด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันนี้ ยินดีที่ได้เห็นความก้าวหน้า และความสำเร็จของโครงการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบซึ่งมุ่งเน้นไปที่พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย และสตรีทฟู้ด ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ดังที่กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบเป็นอย่างมาก เพราะแรงงานนอกระบบถือเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก และสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงงานนอกระบบมีจำนวนกว่า 20 ล้านคน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม บริการ และการค้า เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่หรือแผงลอย สตรีทฟู้ด ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของวิถีชีวิตคนไทย การพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนแล้วถูกขับเคลื่อนโดยฟันเฟืองที่สำคัญเหล่านี้

“แรงงานนอกระบบมักเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เช่น ความไม่มั่นคงในการทำงาน รายได้ที่ไม่แน่นอน และการขาดมาตรการในการช่วยเหลือ คุ้มครอง ที่ครอบคลุม และเข้าถึงแรงงานดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพ และคุณภาพชีวิต ดังนั้น การสร้างมาตรการสนับสนุน และการให้ความคุ้มครองแรงงานนอกระบบจึงเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ปัจจุบันกระทรวงแรงงานเราก็ได้มีการเดินหน้าผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอ ร่าง เข้า ค.ร.ม. ให้ความเห็นชอบ อันจะนำไปสู่ การมีหลักประกันทางสังคม การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิการแรงงาน และการสนับสนุนด้านเงินทุนและการประกอบอาชีพ เพื่อคุณภาพชีวิต ของแรงงานอิสระ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศชาติต่อไป “ นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า การวิจัยในครั้งนี้มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทาย ที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ เช่น ความไม่มั่นคงในอาชีพ การเข้าถึงระบบสวัสดิการทางสังคม และผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่ ผลการวิจัยและข้อเสนอแนะที่นำเสนอในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่สามารถสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

TOP