.
วันที่ 1 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายณัฐวุฒิ ภัทรประยูร จัดหางานจังหวัดร้อยเอ็ด รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนในภาคเอกชน รุ่นที่ 14 โดยมี นายพิชิตร สุวรรณมาก ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการแรงงาน เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา จำนวน 42 คน ณ ห้องพาโนรามา 1 ชั้น 14 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
.
นายณัฐวุฒิ ภัทรประยูร จัดหางานจังหวัดร้อยเอ็ด รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กล่าวว่า ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนในภาคเอกชนรุ่นที่ 14 ในวันนี้ บทบาทของคณะกรรมการค่าจ้าง นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางในการพิจารณาปรับค่าจ้างตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของนายจ้าง ด้วย ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างได้มีแนวทางส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนของตนเอง เพื่อใช้ปรับค่าจ้างให้ลูกจ้างตามความรู้ ความสามารถ และผลงาน คณะกรรมการค่าจ้างตระหนักดีว่าการบริหารค่าจ้าง เงินเดือน และค่าตอบแทนเป็นเรื่องที่สำคัญของทุกองค์กร และการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์กร ถือเป็นภารกิจหลักขององค์กรไม่ว่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม โครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนที่ดีนั้น จะทำให้นายจ้างสามารถควบคุมต้นทุนแรงงานได้ เช่น การควบคุมอัตรากำลังคนให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ สามารถคาดการณ์ต้นทุนแรงงานในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นผลดีในการรักษาความสามารถในการจ่ายค่าตอบแทนในระยะยาวของสถานประกอบกิจการไว้ได้และรักษาบุคลากรที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ อีกด้วย ส่วนลูกจ้างก็ได้รับค่าจ้างตามประสบการณ์ทำงานและทักษะฝีมือ มีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ และมีแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง อันส่งผลให้มีผลิตภาพแรงงานที่ดีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
.
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้เริ่มดำเนินโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนในภาคเอกชน ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 13 ปี ซึ่งจากการติดตามผลการฝึกอบรมที่ผ่านมา พบว่า สถานประกอบกิจการให้ความสำคัญกับการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน โดยมีการนำความรู้ที่ได้รับไปจัดทำหรือปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน กระทรวงแรงงานหวังว่า ผู้เข้ารับการสัมมนาทุกท่านจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน สามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่ และนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดียิ่งที่จะได้ช่วยกันสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมด้านการบริหารค่าจ้างและเงินเดือนให้เกิดขึ้นในตลาดแรงงานของประเทศไทยต่อไป
.
ทั้งนี้ การสัมมนาฯ ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 1- 2 เมษายน 2568 ประกอบด้วย การบรรยายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน เช่น หลักการบริหารค่าจ้าง ค่าตอบแทน และความสำคัญของโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน การบรรยายเรื่อง องค์ประกอบของค่าตอบแทน การกำหนดนโยบายค่าตอบแทน และการออกแบบโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน การกำหนดสายความก้าวหน้าในอาชีพให้สัมพันธ์กับโครงสร้างค่าตอบแทน นอกจากนี้ ยังมี การฝึกปฏิบัติ เรื่อง การประเมินค่างาน การจัดระดับงานเพื่อกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน และการออกแบบโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน ฯ ด้วย