วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานประชุมหารือร่วมกับสำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ (Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons: TIP Office) โดยมี คุณเอล็กซานเดรีย โบลิ่ง (Ms. Alexandria Boling) เจ้าหน้าที่การต่างประเทศ สำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ (TIP Office) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา คุณจัสมิน สโตล์ทซ์ฟัส (Ms. Jasmine Stoltzfus) สำนักงานกิจการประชากร ผู้ลี้ภัยและการย้ายถิ่นฐานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา คุณโมนิชา เชอเรย์ล (Monisha Cherayil) ผู้ช่วยฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูต สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย คุณจันทร์เจ้า จันทร์ศิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูต สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องรับรองปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 7 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
นายบุญสงค์ กล่าวว่า ผมในนามผู้แทนกระทรวงแรงงานพร้อมผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ (TIP Office) และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในวันนี้ กระทรวงแรงงานถือเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยรับผิดชอบการดำเนินงานในด้านป้องกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านความมั่นคง และได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ อาทิ การปรับปรุงแก้ไขและตรากฎหมาย เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานในทุกประเภทการทำงาน การจัดระบบบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่เสมอภาคกับแรงงานไทย การดำเนินนโยบายการให้สิทธิประโยชน์กับแรงงานโดยยึดหลักการปฏิบัติต่อแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และไม่เลือกปฏิบัติด้านสัญชาติ เพศ หรือสถานะทางสังคม สอดคล้องตามหลักสากล โดยในปี 2567 กระทรวงแรงงานยังคงเน้นย้ำการดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) การตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้ สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และเน้นการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปสู่ความสามารถในการส่งต่อคดีที่อาจเกิดขึ้นไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 (TIP Report 2024) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 โดยประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในระดับ 2 (Tier 2) ติดต่อเป็นปีที่ 3 โดยรายงานดังกล่าวยังคงมีข้อเสนอแนะในเรื่องของการพัฒนาความเชี่ยวชาญของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้สามารถสอบสวนข้อบ่งชี้ของการในการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตามมาตรา 6/1 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการสัมภาษณ์คัดกรอง ตลอดจนการส่งต่อกรณีไปสู่การคัดแยกผู้เสียหายตามกลไกการส่งต่อระดับชาติอย่างมีประสิทธิภาพโดยยึดหลักการคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจและผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง รวมถึงข้อเสนอแนะอื่น ๆที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของประเทศไทย
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานและคณะ TIP Office ในครั้งนี้จะทำให้ท่านได้รับทราบพัฒนาการของกระทรวงแรงงาน รวมถึงช่วยชี้แนะปัญหาและประเด็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 ของประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการจัดอันดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป” นายบุญสงค์ กล่าว