Skip to main content

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย สถานการณ์แรงงาน เม.ย.67 ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนว่างงานลดลง ตลาดจ้างงานภาคบริการเติบโตดีขึ้น

รายละเอียดเนื้อหา

  วันที่ 6 มิถุนายน 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์ด้านแรงงาน จากข้อมูลในเดือนเมษายน 2567 ของกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานพบว่า ขณะนี้มีแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีอยู่จำนวน 11,857,864 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 ที่มีอยู่จำนวน 11,659,514 คน แต่เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2567 ที่มีอยู่จำนวน 11,882,607 คน ลดลงร้อยละ -0.21

  นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์การว่างงานของไทยในระบบประกันสังคมในเดือน เม.ย.2567 มีผู้ว่างงาน จำนวน 228,840 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 และ เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.74 โดยอัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือน เม.ย.2567 อยู่ที่ร้อยละ 1.89 และจำนวนการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านระบบขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านระบบออนไลน์ มีจำนวน 84,401 คน ซึ่งลดลงจากเดือน มี.ค.67 จำนวน 766 คน หรือลดลง -0.90 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่จำนวน 3,220 คน หรือลดลง -3.68

  “จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมสถานการณ์การจ้างงานของผู้ประกันตน ม.33 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะสาขาที่พักแรม ร้านอาหาร การค้า และการขนส่ง และสถานที่จัดเก็บสินค้าที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่สถานการณ์การว่างงาน และการเลิกจ้างมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสาขาที่ยังมีอัตราการว่างงานและการเลิกจ้างสูง ได้แก่ การโทรคมนาคม กิจกรรมไปรษณีย์ การรับส่งพัสดุภัณฑ์ และการผลิตภาพยนตร์ วีดีทัศน์และรายการโทรทัศน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น” นายไพโรจน์ กล่าว

  นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ว่างงาน ผมได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเตรียมความพร้อมในการMatching งาน ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างสะสมอยู่ 505,553 อัตรา ตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการประกอบ,แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์ 2.พนักงานขายของหน้าร้านและพนักงานสาธิตสินค้า, พนักงานขายโฆษณาและตัวแทนนายหน้า, ตัวแทนฝ่ายขายด้านเทคนิคและการค้า 3.เจ้าหน้าที่สำนักงานอื่นๆ 4.เจ้าหน้าที่คลังสินค้า และ5.พนักงานรับส่งเอกสาร พนักงานขนสัมภาระ และพนักงานขนส่งสินค้าอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือบรรเทาได้

  สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 หรือสมัครงานผ่านทางแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการว่างงานโดยจะมีการรองรับการลงทะเบียนผู้ว่างงานหรือผู้หางาน ตลอดจนสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

TOP