Skip to main content

‘ปลัดบุญสงค์’ เยี่ยมอาสาสมัครแรงงานกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงไก่ดำ สุราษฎร์ฯ ต้นแบบสร้างอาชีพ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

รายละเอียดเนื้อหา

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2567 เวลา 13.30 น.นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของอาสาสมัครแรงงาน อำเภอท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุขสันต์ เมืองแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่ดำและปศุสัตว์อินทรีย์และสมาชิกกลุ่ม อาสาสมัครแรงงานอำเภอท่าชนะ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่ดำและปศุสัตว์อินทรีย์ ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายบุญสงค์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมและคณะได้ลงพื้นที่มาเยี่ยมพบปะให้กำลังใจกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่ดำและปศุสัตว์อินทรีย์ ที่มีสมาชิกกลุ่มเป็นอาสาสมัครแรงงานอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นอาสาสมัครแรงงานของกระทรวงแรงงาน และเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคมด้วย ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับประธานกลุ่มพบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ได้มีการรวมกลุ่มขึ้นเมื่อปี 2560 เริ่มต้นมีสมาชิก 10 คน ปัจจุบันมีสมาชิกสนใจเพิ่มเป็น 30 คน และได้ร่วมจดทะเบียนเป็น “กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ดำและปศุสัตว์อินทรีย์ ตำบลคันธุลี” มีแนวคิดที่จะพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองให้ดีขึ้นโดยคัดเลือกสายพันธ์เด่นๆ เช่น โตเร็ว เนื้อนุ่ม มาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เพื่อยกระดับการเลี้ยงเพื่อบริโภคเป็นผู้ประกอบการ เลี้ยงไก่เพื่อการค้าเป็นการสร้างรายได้เพิ่มในภาวะที่ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำและเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินในสวนยางสวนปาล์มมาทำเล้าเลี้ยงไก่และปศุสัตว์อื่นๆ อีกด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ประกอบด้วย ลูกพันธุ์ไก่ดำ ไก่พื้นเมือง อาหารไก่ ยาสมุนไพรป้องกันโรค อาหารไก่อินทรีย์ลดต้นทุน เนื้อไก่สดชำแหละ และเนื้อไก่แปรรูป

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าไปฝึกอบรมกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานหลักสูตรการทำอาหารไก่ ตามโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีนโยบายสำคัญมุ่งเน้น “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจ แรงงานไทยมั่นคง” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ชุมชน มีงานทำ มีทักษะอาชีพ มีรายได้ และมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานอยู่กับบ้าน โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพของกระทรวงแรงงาน จะช่วยให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ได้นำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ รายได้ที่เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป

TOP