นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2567 (Trafficking In Persons Report 2024) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยยังคงสถานะ Tier2 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยรายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลด้านการค้ามนุษย์จาก 186 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ โดยในรายงานระบุถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นของไทยว่า ประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ อย่างครบถ้วนในการขจัดการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยยะสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว และรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นโดยรวมเมื่อเทียบกับรอบระยะเวลาการรายงานปีที่ผ่านมาในประเด็น อาทิ จำนวนการสืบสวนสอบสวนกรณีค้ามนุษย์ การดำเนินคดีรวมถึงจำนวนผู้เสียหายที่ได้รับการคัดแยกและส่งเพื่อรับบริการมีเพิ่มขึ้น มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในคดีค้ามนุษย์ การคัดแยกผู้เสียหายที่เป็นแรงงานอพยพย้ายถิ่นได้มากขึ้น รวมถึงคัดแยกผู้เสียหายที่ถูกแสวงประโยชน์ในภาคประมง ศาลมีคำสั่งเพิ่มค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายเพิ่มขึ้นและมีการเปิดศูนย์บริการการคัดแยกผู้เสียหาย เป็นต้น
โดยสหรัฐยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประเทศไทย ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน อาทิ เพิ่มความพยายามในการระบุตัวตนและการคุ้มครองผู้เสียหายที่เดินทางเข้าประเทศไทยหลังถูกแสวงประโยชน์โดยการถูกบังคับใช้แรงงาน บังคับใช้กลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) และระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรองอย่างเต็มที่ และดำเนินการเปิดศูนย์คัดแยก ใช้แนวทางยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจรวมทั้งในระหว่างการสัมภาษณ์และการตรวจแรงงานโดยทีมสหวิชาชีพ บังคับใช้คุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมงและการค้าต่างๆ รวมถึงตัวเลือกการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการห้ามโยกย้ายทางทะเล รวมแบบฟอร์มคัดกรองการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานของกระทรวงแรงงาน และแบบคัดกรองของกระทรวง พม.ให้เป็นแนวทางเดียวกันและฝึกเจ้าหน้าที่ด่านหน้าให้มีความเข้าใจ
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย มี 3 หน่วยงานหลัก ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลัก “ด้านป้องกัน” โดยในปีที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนการดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในหลายๆ ด้าน อาทิ มีพัฒนาการที่สำคัญด้านป้องกัน ยกระดับสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้เป็นหน่วยงานระดับกองสามารถสั่งการให้การปฏิบัติงานเกิดความคล่องตัว เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน บังคับใช้มาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานในแรงงานกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก แรงงานภาคประมง ให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และได้รับสภาพการจ้างตามหลักสากล ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้แก่ การตรวจแรงงานที่ศูนย์ PIPO ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ตรวจแรงงานเชิงคุณภาพในสถานประกอบการทั่วไปและการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices) ไปใช้ ดำเนินงานโครงการความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาด้านการป้องกัน เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคเอกชน ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
“แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐให้อยู่ในระดับ Tier 2 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างหนักและมีความพยายามขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบด้านการป้องกันนั้น ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญและกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัดมุ่งมั่นขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็วต่อไป”นายไพโรจน์ กล่าวท้ายสุด