วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 2 กับพวกรวม 5 คน จากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตน เนื่องจากเห็นว่า รายงานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะในรายงานการประชุมมีมติให้ปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ เป็น 400 บาท และเห็นว่า การพิจารณาปรับสูตรอัตราค่าจ้างดังกล่าวเป็นการพิจารณาที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม มาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ซึ่งในเรื่องนี้ ขอเรียนว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น มีวาระการพิจารณากรอบแนวทางการทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 เพื่อมีมติเห็นชอบกรอบแนวทางฯ ให้ทุกจังหวัดใช้เป็นแนวทางการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งได้นำเสนอแนวทางให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา 4 แนวทาง เมื่อที่ประชุมพิจารณาแล้วได้มีมติเสียงส่วนใหญ่ 7 ต่อ 5 เสียง เห็นชอบแนวทางที่ 2 คือ ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดใช้สูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สูตรเป็นแค่หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการไตรภาคีกำหนดขี้น ไม่มีบทบัญญัติในพรบ.คุ้มครองแรงงาน พศ.2541 ในมาตรา 87 เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกจังหวัดสามารถพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดของตนได้โดยอิสระ และในมาตรา 87 กำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
การกำหนดสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงการนำตัวแปรบางตัวที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ใกล้เคียงทั้งนายจ้างและลูกจ้างมาพิจารณา สำหรับการประชุมที่ต้องมีมติไม่น้อยกว่าสองในสามนั้น มาตรา 82 กำหนดว่าเป็นเรื่องของการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งในครั้งนี้ยังไม่ใช่การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมเป็นมติการประชุมได้ ทั้งนี้ เมื่อทุกจังหวัดพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดมายังคณะกรรมการค่าจ้างแล้ว คณะกรรมการค่าจ้างจะมีการพิจารณาทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขันต่ำ ปี 2567 ในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 อีกครั้งหนึ่ง
“ในส่วนของความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ นั้น กระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผล โดยทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐาน ภายใต้อำนาจของไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง ” นายไพโรจน์ กล่าว