Skip to main content

ปลัด ก.แรงงาน มอบ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไตรภาคีเชิงนวัตกรรม ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานระดับภูมิภาค

รายละเอียดเนื้อหา

            วันที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไตรภาคีในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับแนวทางเชิงนวัตกรรมในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ ณ ห้องเพลินจิต ชั้น F โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์พอยต์ เพลินจิต กรุงเทพฯ

            นายศักดินาถ กล่าวว่า ประเทศไทย มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไตรภาคีในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับแนวทางเชิงนวัตกรรมในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ ที่จัดขึ้นในวันนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสกล่าวเปิดงานในวันนี้ พร้อมขอต้อนรับผู้แทนจากทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย หุ้นส่วนทางสังคม และผู้ปฏิบัติงานที่จะมาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเวทีแลกเปลี่ยนนี้การที่ทุกท่านได้มีโอกาสมาร่วมงานในวันนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การมารวมตัวในเวทีแห่งนี้ ยังถือเป็นการรับทราบร่วมกันว่า ปัญหาที่เกิดจากการจ้างงานนอกระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของโลก จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขด้วยความร่วมมือที่สร้างสรรค์และมีความครอบคลุมประเทศไทยเองก็เป็นเหมือนกัประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงานนอกระบบ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดแรงงานของประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากกลไกระบบเศรษฐกิจสองภาคส่วน โดยมีแรงงานจำนวนมากที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ตั้งแต่เกษตรรายย่อย ผู้ผลิตในครัวเรือน พ่อค้า แม่ค้าตามตลาด ไปจนถึงคนทำงานรับจ้างชั่วคราว อาจบอกได้ว่าเศรษฐกิจนอกระบบแทรกตัวอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมแม้ว่าการจ้างงานนอกระบบจะเปิดโอกาสในการจ้างงานและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจแก่คนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การจ้างงานดังกล่าวยังคงมีความท้าทายที่ไม่อาจมองข้ามได้ แรงงานนอกระบบมักไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคม มีรายได้ที่ไม่มั่นคง และไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการจำกัดศักยภาพของแรงงานกลุ่มดังกล่าว แต่ยังเป็นการทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมมีการชะลอตัว สำหรับประเทศไทยเช่นเดียวกับหลายประเทศ การแก้ไขปัญหาการจ้างงานนอกระบบจึงไม่ใช่แค่ประเด็นด้านแรงงาน แต่เป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ และได้มีการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ โดยมีความพยายามดังนี้ 1) การขยายความคุ้มครองทางประกันสังคม: โดยการเปิดรับสมัครผู้ประกันตนแบบสมัครใจ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น การรักษาสุขภาพ และเงินบำเหน็จชราภาพ 2) การส่งเสริมการคุ้มครองแรงงาน โดยการสร้างแรงจูงใจและปรับปรุงแนวปฏิบัติให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่สังคมและระบบเศรษฐกิจที่กว้างและหลากหลายขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของแรงงานในกลุ่มดังกล่าว 3) การจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. .… ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความคุ้มครองที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นสำหรับแรงงานอิสระและแรงงานนอกระบบ

            นายศักดินาถ กล่าวต่อว่า ในปี 2567 ประเทศไทยได้มีความพยายามในการส่งเสริมและขยายความคุ้มครองทางสังคมให้มีความครอบคลุมแรงงานกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานทำงานบ้าน โดยประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าที่สำคัญคือ การออกกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 15 ว่าด้วยแรงงานทำงานบ้าน ซึ่งได้มีการกำหนดและเพิ่มข้อตกลงขั้นพื้นฐานในการจ้างงาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน วันหยุด และสิทธิในการลาคลอด โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความมุ่งมันของประเทศไทยในการปรับปรุงการคุ้มครองแรงงานและบูรณาการการบริหารจัดการการจ้างงานนอกระบบให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ แม้ว่ามาตรการเหล่านี้จะถือเป็นก้าวที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เนื่องจากความท้าทายของการจ้างงานนอกระบยังคงเป็นเรื่องที่หยั่งรากลึก และมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความไม่เท่าเทียม การศึกษา และการเข้าถึงทรัพยากร ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเวทีในวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเวทีนี้จะเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้แลกเปลี่ยนแนวคิด แบ่งปันแนวทางเชิงนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจจากความสำเร็จและบทเรียนของกันและกัน

            นายศักดินาถ ยังกล่าวถึงหัวข้อการประชุมในวันนี้ว่า “แนวทางเชิงนวัตกรรมในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ” นั้น มีความเหมาะสมและมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะมันเชิญชวนให้ทุกท่านได้คิดอย่างสร้างสรรค์และร่วมมือกัน โดยใช้นวัตกรรมเชิงนโยบาย และการเจรจาทางสังคม เพื่อออกแบบแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นายจ้าง หรือลูกจ้างในช่วงที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ผมขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยหวังว่าผู้เข้าร่วมจะได้แนวคิดและมุมมองใหม่ๆ พร้อมความร่วมมือและเป้าหมายร่วมกันในการหาแนวทางในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ

            “ผมเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์ของเวทีนี้จะไม่เพียงช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจ้างงานนอกระบบ แต่ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ และส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ ผมเชื่อว่า ทุกท่านมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนมุมมองของการจ้างงานนอกระบบที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาในสังคม ให้เป็นสะพานเชื่อมไปยังโอกาสที่ดีกว่า การดำรงชีวิตที่ดีขึ้น การมีงานที่มีคุณค่า และการมีความยุติธรรมทางสังคมสำหรับทุกคน” นายศักดินาถ กล่าว

—————————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

TOP