วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำกรอบร่างวิธีการทดสอบ พิจารณาและปรับปรุงร่างคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 – 3 ธันวาคม 2564 โดยมี นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ร่วมเป็นเกียรติในงานเปิดการสัมมนา ณ โรงแรมโนโวเทลมารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยกล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินการ มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 4 อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต มาตรฐานฝีมือแรงงานได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความทันสมัย ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสมอมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ การส่งเสริมการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ของรัฐบาล
การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่จะเตรียมพร้อมทักษะฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพสอดรับกับยุทธศาสตร์ของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีขั้นตอนในการจัดทำคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นคู่มือสำหรับผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและใช้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับแรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงาน และแรงงานนอกระบบ ซึ่งต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยี สภาพการจ้างงาน และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ นายสุรชัยฯ กล่าวในท้ายสุด
นอกจากนี้ นายสุรชัยฯ ได้เยี่ยมชม บูธสาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทีลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) สาธิตการเชื่อมชิ้นงาน โดยบริษัท วีบี เวลดิ้ง เทคโนโลยี่ จำกัด บูธเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม แสดงระบบการวัดด้วยการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ โดยบริษัท มิตูโยโย (ประเทศไทย) จำกัด บูธเยาวชนแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ สาขาช่างควบคุมเครื่องจักรกล CNC แสดงชิ้นงานที่เป็นผลงานการเก็บตัวฝึกซ้อมเยาวชน โดยบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด และบูธสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง แสดงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบ PLC โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA)
ทั้งนี้ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำกรอบร่างวิธีการทดสอบฯ เพื่อเร่งรัดให้การจัดทำคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและสภาพการจ้างงานในปัจจุบัน ตลอดจนรองรับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอนาคต โดยพิจารณาใน 5 สาขา ได้แก่ ผู้ควบคุมเครื่องมือวัดโปรไฟล์โปรเจ็คเตอร์ นักดูแลและบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ช่างเชื่อมท่อพอลิเอทีลีนความหนาแน่นสูง ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ CAD และช่างควบคุมเครื่องกัด CNC
—————————-
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์