.
วันที่ 5 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งวันนี้เป็นวันที่สอง ในการนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมลงพื้นที่ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดยะลา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ โดย นายสิรภพ และคณะ ได้ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย หมู่ที่ 1, หมู่ 2, หมู่ที่ 3 และ หมู่ที่ 4 ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา จุดละ 125 ชุด รวมจำนวน ทั้งสิ้น 500 ชุด พร้อมตรวจเยี่ยมการให้บริการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา ซึ่งเปิดวันแรก มีผู้มาใช้บริการซ่อมรถจักรยานยนต์ 56 คัน เครื่องใช้ไฟฟ้า 55 รายการ
.
นายสิรภพ กล่าวว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่นำถุงยังชีพมาช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยได้ปักหลักอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 4 – 7 ธันวาคมนี้ ในส่วนของมาตรการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ของกระทรวงแรงงานนั้น ประกอบด้วย การลดอัตราเงินสมทบและขยายระยะเวลาการส่งเงินสมทบแก่ลูกจ้างผู้ประกันตนลูกจ้างผู้ประกันตนที่สถานประกอบการถูกน้ำท่วมทำให้ต้องหยุดงานไม่สามารถไปทำงานได้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย การขึ้นทะเบียนประกันการว่างงาน ผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน กรณีที่อยู่อาศัยของลูกจ้างได้รับผลกระทบเป็นเหตุให้ไปทำงานไม่ได้หรือเข้าทำงานสาย ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา รวมถึงฟื้นฟูในพื้นที่หลังน้ำลด ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่เริ่มคลี่คลายลงแล้ว กระทรวงแรงงานก็จะจัดทีมช่างจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงงาน เข้าไปซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำงาน บ้านเรือน รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์เล็กทางการเกษตร รวมถึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยการจ้างงานภายหลังน้ำลด เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด
.
“กระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยหลังจากนี้ ในช่วงน้ำเริ่มลดลง เราจะนำรูปแบบ “เชียงรายโมเดล” เข้าไปช่วยเหลือ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะเร่งประสาน ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ” นายสิรภพ กล่าว