Skip to main content

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : ค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างเฉลี่ยในเยอรมนี

รายละเอียดเนื้อหา

ค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างเฉลี่ยในเยอรมนี

 

ในขณะที่ยุโรปหลายประเทศมีกฎระเบียบเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่สำหรับเยอรมนีกฎระเบียบเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของสหพันธ์ฯ เพิ่งจะมีการประกาศใช้ในปี 2557 โดยมีการออก พรบ. ค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage Act) โดยก่อนหน้านี้ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเรื่องระหว่างสหภาพแรงงานกับกลุ่มธุรกิจ
ในเดือนมิถุนายน 2558 รัฐบาลเยอรมันได้ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำนี้ กำหนดโดยคณะกรรมการอิสระ บนพื้นฐานของข้อมูลจากสำนักงานสถิติสหพันธ์ฯ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำนี้ถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากมีการประกาศใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2557 และตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกๆ 2 ปี มีชาวเยอรมันประมาณ 4 ล้านคนที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งใช้สำหรับลูกจ้างในเยอรมันทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยยกเว้นผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ฝึกงาน
ค่าจ้างขั้นต่ำในเยอรมนี ณ เดือนมกราคม 2560 อยู่ที่ 8.84 ยูโร/ชั่วโมง  หรือประมาณ 1,532 ยูโร/เดือน โดยค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการใช้ครั้งแรกในเยอรมนีในปี 2558 อยู่ที่ 8.50 ยูโร/ชั่วโมง ดังนั้น บนพื้นฐานของสัปดาห์การทำงานมาตรฐาน ลูกจ้างจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำที่ 1,473 ยูโร/เดือนก่อนหักภาษี
ค่าจ้างขั้นต่ำของเยอรมนี บังคับใช้กับลูกจ้างเกือบทุกคน รวมถึงลูกจ้างชาวต่างชาติ ลูกจ้างทำงาน part-time ผู้ฝึกงาน (ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ) และลูกจ้างที่ทำงานในระยะทดลองงาน นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีบริการ “สายด่วนค่าจ้างขั้นต่ำ (minimum wage hotline)” และ ”การคำนวณเงินเดือน (salary calculator)” สำหรับคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงแก่ลูกจ้าง 
ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำถูกนำไปใช้กับลูกจ้างส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ที่เป็นนายจ้างของตนเองไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ใช้บังคับกับผู้ฝึกงานที่มีระยะเวลาฝึกงานน้อยกว่า 3 เดือน หรือผู้ฝึกงานที่การฝึกงานเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในมหาวิทยาลัย หรืองานอาสาสมัคร อนึ่ง ผู้ที่เป็นผู้ว่างงานระยะยาว (long term unemployment) เมื่อได้งานทำสามารถได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้สำหรับระยะเวลาการทำงาน 6 เดือนแรกเมื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน
นายจ้างจะได้รับโทษอย่างหนักหากไม่จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่คนงานของตน เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำในตอนแรก หน่วยงานบังคับภาษีสำหรับงานที่ไม่ได้แจ้ง (Tax Enforcement Unit for Undeclared Work) ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่จำนวนมากเพื่อจัดการกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้
สภาลูกจ้างและสหภาพแรงงานได้เฝ้าระวังการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในระดับสถานประกอบการ แม้ว่าในทางทฤษฎีบริษัทอาจจะถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 500,000 ยูโร ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ลูกจ้างที่มั่นใจว่าตนเองได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะคุยกับนายจ้างเพื่อแก้ไขปัญหา ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังบุคคลที่สาม ลูกจ้างสามารถคุยกับสหภาพแรงงาน (ถ้ามี) และถ้านายจ้างยังคงไม่แก้ไข การดำเนินการตามกฎหมายก็เป็นสิ่งจำเป็น ลูกจ้างมีเวลา 3 ปีในการเรียกร้องสิทธิจากการได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ
สภาพการทำงานและเงินเดือนเฉลี่ยในเยอรมนีดีกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปหลายประเทศ จากการสำรวจของ OECD ในปี 2559 3 ใน 4 ของประชากรอายุระหว่าง 15-64 ปี ในเยอรมนีมีงานทำสูงกว่าการจ้างงานเฉลี่ยของ OECD และจากข้อมูลในปี 2558 เงินเดือนเฉลี่ยสุทธิของเยอรมนีอยู่ที่ 2,155 ยูโร/เดือน เพิ่มขึ้น 4.68 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน ซึ่งทำให้เยอรมนีอยู่ในลำดับที่ 8 ของประเทศกลุ่มอียู 28 ประเทศ แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ย เมื่อเทียบปีต่อปี ของเยอรมนีจะอยู่ในกลุ่มที่มีลำดับสูงที่สุด นอกจากนี้ จากการสำรวจ ประมาณการเงินเดือนกลุ่ม professional เช่น วิศวกร หรือ IT พบว่าเงินเดือนจะอยู่ระหว่าง 45,000 – 60,000 ยูโร
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม แสดงให้เห็นว่าในปีแรกที่เยอรมนีมีการใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้างไร้ฝีมือ และกึ่งฝีมือ ได้รับประโยชน์ โดยเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของเงินเดือนปกติ เช่นเดียวกับลูกจ้าง part time (หรือ mini job) นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนจะสูงที่สุดในอุตสาหกรรมเนื้อ การรักษาความปลอดภัย การทำและจัดสวน การก่อสร้าง และ catering ความกลัวที่ว่าค่าจ้างขั้นต่ำในเยอรมนีจะมีผลกระทบต่อระดับการว่างงานนั้นยังไม่ปรากฎหลักฐาน ในขณะที่ระดับการว่างงานกลับลดลง
  


—————————————————
  

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 8 /2561
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
28  ธันวาคม  2560

TOP