Skip to main content

“พิพัฒน์”ขานรับนายก หารือคลังออกมาตรการดูแลแรงงาน ผู้ประกอบการ กระตุ้นเศรษฐกิจ

รายละเอียดเนื้อหา

  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนว่าให้กระทรวงแรงงานกับกระทรวงการคลังหารือกันกรณีสถานประกอบการลดพนักงานว่า วานนี้ (6 มิ.ย.67) ผมได้พบท่านพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการหารือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเชิญผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในกิจการต่างๆ เข้ามาหารือกันว่าเมื่อถึงเวลาในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ที่จะมีการประกาศค่าแรงที่ 400 บาท ทั้งประเทศพร้อมกันและเท่าเทียมกันนั้น ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องใดบ้าง เพื่อออกมาตรการดูแลแรงงานและผู้ประกอบการอย่างเหมาะสม

  นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เราได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อจะแก้ปัญหาในส่วนที่ผู้ประกอบการประสบความเดือดร้อน หรือมีอะไรที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือก็ขอให้หารือเข้ามา โดยผมได้หารือกับท่านปลัดกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมการจัดหางาน ว่าในส่วนตรงนี้กระทรวงแรงงานได้เตรียมตำแหน่งงานต่างๆ ไว้กว่า 500,000 ตำแหน่ง ที่จะรองรับสำหรับคนที่ถูกปลดออกจากงานหรือสถานประกอบการที่มีการลดกำลังแรงงาน ซึ่งขณะนี้การปรับค่าแรง 400 บาท ยังไม่ได้มีการกระทบในเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่เมื่อมีการลดกำลังแรงงานลงในสถานประกอบการต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่จะต้องหาตำแหน่งงานเพื่อการทดแทนสำหรับภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะแมชชิ่งตำแหน่งงานได้ในทันทีหากพบว่าแรงงานในจังหวัดหนึ่งจังหวัดใดถูกปลดออกจากงาน เราจะเอาคนงานในจังหวัดนั้นไปเติมเต็มในแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาว่าหากจำเป็นต้องแมชชิ่งตำแหน่งงานให้คนงานไปทำงานอีกจังหวัดหนึ่งนั้นจะกระทบต่อค่าครองชีพหรือไม่ ในส่วนตรงนี้กระทรวงแรงงานจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการขอความร่วมมือช่วยตรึงราคาสินค้าอีกทางหนึ่งด้วย

  “ส่วนการเตรียมตำแหน่งงานรองรับในต่างประเทศนั้น ผมเองพร้อมด้วยท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ท่านอธิบดีกรมการจัดหางาน ได้เดินทางไปในหลายๆ ประเทศ เพื่อไปหาแรงงานเพิ่มเติมโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ มีรายได้สูงกว่าการทำงานในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันแรงงานต้องมีทักษะที่จะไปทำงานในประเทศเหล่านั้น เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิสราเอล และประเทศทางภาคพื้นยุโรป ซึ่งแต่ละประเทศก็มีผลการตอบรับกลับมาที่ดีว่ามีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคก่อสร้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ว่า ต้องส่งแรงงานออกไปทำงานในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 100,000 คน ซึ่งผมมั่นใจว่าจำนวนนี้เราสามารถส่งออกถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันในวันที่ 11 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ผมจะไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะได้มีการหารือทวิภาคีกับประเทศในภาคพื้นยุโรปเพื่อขอตำแหน่งงานในการที่จะส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคพื้นยุโรปด้วย”นายพิพัฒน์ กล่าว

TOP