Skip to main content

‘พิพัฒน์’สั่งเร่งช่วยลูกจ้างโคราชถูกเลิกจ้าง ด้าน‘ปลัดบุญสงค์’ส่ง 5 เสือแรงงานตั้งโต๊ะรับคำร้อง อำนวยความสะดวกลูกจ้างหน้าโรงงานให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายแล้ว

รายละเอียดเนื้อหา

 

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือกรณีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างที่จังหวัดนครราชสีมาว่า จากการที่บริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ เลขที่ 835 หมู่ 18 บ้านซับม่วง ถนนสายปากช่อง – ลำสมพุง ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วน วิทยุ โทรทัศน์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่งไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศปิดกิจการลงอย่างถาวรตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน กรณีสำนักงานใหญ่ (ประเทศญี่ปุ่น) มีการประกาศล้มละลายต่อศาลที่ญี่ปุ่น ทำให้พนักงานทั้งหมด 831 คนถูกเลิกจ้างนั้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้ให้ท่านบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน สั่งการให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ร่วมกันกับทางจังหวัดเพื่ออำนวยความสะดวกลูกจ้าง กรณีบริษัทปิดกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายในทันที

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมได้รับรายงานจากนางสาวปภิญญา ทองสมจิตร แรงงานจังหวัดนครราชสีมาว่า เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.67) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายอำเภอปากช่อง ผกก.สภ.ปากช่อง สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมา (สาขาปากช่อง) ได้บูรณาการลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกลูกจ้าง กรณีบริษัทปิดกิจการ ณ บริเวณพื้นที่ตรงข้ามบริษัทฯ โดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1) ดำเนินการรับคำร้องลูกจ้าง (คร.7) สอบข้อเท็จจริงผู้แทนลูกจ้าง และผู้แทนบริษัทนายจ้าง ประกอบการวินิจฉัยออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินอื่นๆ ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2) รับขึ้นทะเบียน รายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน การลงทะเบียนสมัครงานผ่านระบบไทยมีงานทำ 3) ชี้แจงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีว่างงาน ถูกเลิกจ้าง 4) จัดทำ Google form รับสมัครฝึกอบรม จำนวน 10 หลักสูตร และสำรวจความต้องการในการฝึกอบรมของลูกจ้าง 5) เตรียมการรองรับในพื้นที่ จัดเตรียมสถานที่ น้ำดื่ม อาหารไว้บริการลูกจ้าง

ทั้งนี้ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งกลุ่มไลน์เพื่อตอบปัญหา และให้ลูกจ้างติดตามความคืบหน้าได้โดยสะดวก ซึ่งปัจจุบันมีลูกจ้างมายื่นคำร้องแล้ว จำนวน 734 ราย จากลูกจ้างทั้งสิ้น จำนวน 831 ราย โดยหลังจากนี้ กระทรวงแรงงานจะได้ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยเร็วต่อไป โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครราชสีมา หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 150

TOP