Skip to main content

“พิพัฒน์”หนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แห่งใหม่

รายละเอียดเนื้อหา

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมพจน์ กวางแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมเยี่ยมชมด้วย ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการที่คณะมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้เข้ามาพบผมที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อมาแนะนำพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและได้ปรึกษาหารือเรื่องการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานและสังคมนั้น ในวันนี้ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน จึงได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารมูลนิธิฯ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่นิคมมักกะสันแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2534 โดยองค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการด้านแรงงาน นักประวัติศาสตร์ และนักจดหมายเหตุ มีมติร่วมกันให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานไทย

“ผมขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และผู้ใช้แรงงาน รวมถึงประชาชน และชาวต่างชาติ ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับแรงงานไทยได้แวะเวียนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ”นายพิพัฒน์ กล่าว

สำหรับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้นก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดแสดงเรื่องราว ประวัติความเป็นมา ชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานของผู้ใช้แรงงาน เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้า รวบรวม และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล เอกสาร หนังสือ เทปบันทึกเสียงและวิดีโอเทปเกี่ยวกับแรงงานไทย สำหรับให้บริการแก่สาธารณชน รวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแรงงานที่จัดกิจกรรมเพื่อผู้ใช้แรงงานและสาธารณชน ปัจจุบันมีห้องแสดงรวม 7 ห้อง ได้แก่ ห้องที่ 1 แรงงานบังคับ ไพร่ ทาส และการเปิดประเทศ ห้องที่ 2 กุลีจีน แรงงานจับจ้างรุ่นแรก ห้องที่ 3 การปฏิรูปประเทศสมัย รัชกาลที่ 5 ห้องที่ 4 กรรมกรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ห้องที่ 5 จากสงครามโลกถึงสงครามเย็น ห้องที่ 6 ห้องศิลปวัฒนธรรมกรรมกร จิตร ภูมิศักดิ์ และห้องที่ 7 จากยุค 14 ตุลา ถึงยุควิกฤษเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยอยู่ในบริเวณพื้นที่มักกะสัน ซึ่งความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แรงงานแห่งนี้จะดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าในสังคมไทยต่อไป

TOP