Skip to main content

พิพัฒน์ห่วงใยลูกจ้างบาดเจ็บจากการทำงาน เร่งรณรงค์ความปลอดภัย เตรียมจัดงานใหญ่ดึงทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

รายละเอียดเนื้อหา

   นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.รง. ติดตามสถานการณ์การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานลดลง จาก 94,906 ราย ในปี 2562 เป็น 81,509 ราย ในปี 2566 และตั้งแต่ปี 2562 – 2566 กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ลูกจ้างประสบอันตรายมากที่สุด สาเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายสูงสุด คือ วัตถุหรือสิ่งของตัด บาด หรือทิ่มแทง อวัยวะที่ลูกจ้างประสบอันตรายสูงสุด คือ นิ้วมือ หรือนิ้วหัวแม่มือ กลุ่มอายุของลูกจ้างที่ประสบอันตรายสูงสุด คือ กลุ่มอายุระหว่าง 25 – 29 ปี ประเภทกิจการที่มีจำนวนการประสบอันตรายสูงสุด คือ การก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย และโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานที่เกิดกับลูกจ้างมากที่สุด คือ โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน

  โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รมว.รง. ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ร่วมกันรณรงค์สร้างความปลอดภัยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปีนี้กระทรวงแรงงานกำหนดจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 36 ในระหว่างวันที่ 19 – 21 มิ.ย. 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 11 – 12 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง บุคลากรภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน” ภานในงานจะมีการสัมมนาวิชาการ การแสดงนิทรรศการและการสาธิตกว่า 100 บูธ การประกวดและสาระบันเทิงด้านความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ ยังจะจัดงานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในส่วนภูมิภาคขึ้นทั่วประเทศ เริ่มที่ภาคใต้วันที่ 3 – 4 ก.ค. ที่ จ.สงขลา ภาคตะวันตก 24 – 25 ก.ค. ที่ จ.ราชบุรี ภาคอีสาน 14 – 15 ส.ค. ที่ จ.นครราชสีมา ภาคเหนือ 21 – 22 ส.ค. ที่ จ.เชียงใหม่ และภาคตะวันออก 11 – 12 ก.ย. ที่ จ.ชลบุรี

  “ขอเชิญชวนคนไทยสร้างวินัยความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ไม่ว่าท่านจะเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ วิศวกร บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ แนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหา ทำให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมเชิงป้องกันสู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

TOP