วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีแรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลว่า ผมและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทุกคนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและขอส่งกำลังใจให้ผู้บาดเจ็บอาการปลอดภัยดีขึ้นโดยเร็ววัน และตามที่ผมได้สั่งการให้ท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ประสานทูตแรงงาน ที่กรุงเทลอาวีฟว่าให้ช่วยดูแลอพยพแรงงานทางภาคเหนือทั้งหมดให้อพยพไปทำงานทางภาคใต้ และสั่งให้ 5 เสือแรงงานลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวของผู้เสียชีวิตเพื่อช่วยเหลือเยียวยานั้น
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดผมได้รับทราบรายงานจากนายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (31 ต.ค.67) เวลา 13.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น กลุ่มฮิลบัลเลาะห์ได้ยิงจรวดลงมาในพื้นที่ภาคเกษตรทางการเหนือของอิสราเอลใกล้เมืองเมทตูลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บรุนแรง 1 ราย ฝ่ายแรงงานฯ ได้ตรวจสอบกับสำนักงานประชากรและคนเข้าเมืองอิสราเอล (PIBA) ทราบว่า ผู้เสียชีวิต 1 รายเป็นนายจ้างชาวอิสราเอล และแรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย มีภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา 2 ราย คือ 1) นายกวีศักดิ์ ปานะนัง 2) นายธนา ติจันทึก 3) นายอรรคพล วรรณไสย เป็นชาวจังหวัดอุดรธานี แล 4) นายประหยัด พิลาศรัมย์ เป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทราบชื่อคือ นายฉัตรชัย ศิลป์ประเสริฐ เป็นชาวจังหวัดชัยภูมิ ผู้บาดเจ็บขณะนี้แพทย์และพยาบาลอยู่ระหว่างการช่วยชีวิต
จากรายงานของฝ่ายแรงงานฯ ทราบว่า เมืองเมตูลาเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงอันตรายที่กองทัพอิสราเอลประกาศให้เป็นเขตปิดทางทหาร หลังเข้าไปปฏิบัติการทางทหารทางภาคพื้นดินในเลบานอน อย่างไรก็ดี ยังมีแรงงานไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ แม้สถานเอกอัครราชทูตฯ และฝ่ายแรงงานฯ ออกประกาศเตือนหลายครั้งและพยายามขอให้ย้ายออกพื้นที่แล้วก็ตาม
“กระทรวงแรงงานขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่อิสราเอลทั้ง 4 ราย และขอส่งกำลังใจให้ผู้บาดเจ็บ 1 รายปลอดภัยอาการดีขึ้นโดยเร็ววัน กระทรวงแรงงานจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดูแลพี่น้องแรงงานไทยอย่างดีที่สุด” นายพิพัฒน์ กล่าว
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทย ผมได้สั่งการให้ 5 เสือกระทรวงแรงงานจังหวัดนครราชสีมา อุดรธานี บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ลงพื้นที่ไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว แรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ พร้อมแจ้งข้อมูล และประสานอำนวยความสะดวกเพื่อให้ความช่วยเหลือทายาทให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ส่วนการดำเนินการติดตามสิทธิประโยชน์ที่อิสราเอล ฝ่ายแรงงานฯ จะประสานกับสถานทูตและทางการอิสราเอลเพื่อให้ทายาทได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506