นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งรัดติดตามการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพื่อนำรายได้เข้าประเทศและส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย. 67 มีจำนวนคนไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วมากกว่า 86,000 คน และมีรายได้ที่ส่งกลับผ่านระบบของธนาคารแห่งประเทศไทย 246,379 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก ในปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ทั่วโลก 134 ประเทศ 144,617 คน โดย 5 อันดับแรกที่คนไทยไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล และมาเลเซีย ตามลำดับ
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นอกจากรายได้และสิทธิประโยชน์ที่แรงงานไทยได้รับในระหว่างทำงานในต่างประเทศแล้ว สิ่งที่หลายคนไม่ทราบก็คือการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์เมื่อกลับมายังประเทศไทยแล้ว เช่น การขอคืนภาษีเงินได้ เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ ค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้าง เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศที่แรงงานไทยไปทำงานจะให้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ตามกฎหมายของเขา โดยเฉพาะไต้หวันที่แรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด ตัวอย่างเช่นการยื่นเรื่องขอรับบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันภัยแรงงานสำหรับแรงงานไทยในภาคการผลิตและก่อสร้างที่เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว และมีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย × อายุการเป็นสมาชิกของกองทุน โดยยื่นเอกสารหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน (ภาษาอังกฤษ) หนังสือเดินทาง สมุดบัญชีธนาคารสำเนา หนังสือสัญญาทำงาน และอื่น ๆ ได้ที่สำนักงานแรงงานทุกจังหวัด หรือสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ
“สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่จะอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มักทราบข้อมูลแบบปากต่อปาก โดยท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์อยากให้ทุกหน่วยงานช่วยกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลมาก ๆ เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนพึงจะได้รับ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีบริษัทหรือนายหน้าเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อเชิญชวนแรงงานไทยให้ยื่นขอรับบำเหน็จชราภาพผ่านบริษัทของตนและเรียกเก็บส่วนแบ่งจากเงินชราภาพนั้น จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อและขอให้ติดต่อกับหน่วยงานของกระทรวงแรงงานโดยตรงจะดีที่สุด” นายภูมิพัฒน์ กล่าว