Skip to main content

พิพัฒน์เร่งออก กม.ให้สิทธิลูกจ้างรวมตัว ยืนยันปรับ-ชดเชยค่าจ้างตามภาวะเศรษฐกิจ

รายละเอียดเนื้อหา

            นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันเร่งรัดการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ.1949 ซึ่งเป็นการยกระดับสิทธิพื้นฐานของแรงงานตามมาตรฐานสากลที่มีการเรียกร้องในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้เสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเร่งหารือกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม หาก ครม.เห็นชอบก็จะส่งให้ ส.ส.และ ส.ว.พิจารณาและประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ถึงตอนนั้นประเทศไทยจึงจะให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับกับ ILO ได้

            โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ในการหารือกับคณะกรรมการบริหารองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้แทนของสภาองค์การลูกจ้าง 10 แห่งเข้าร่วมนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยืนยันด้วยว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทอย่างแน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจบ้าง แต่จะพยายามให้กระทบน้อยที่สุด และต้องไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อยอย่างเช่นพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในอนาคตอาจมีการปรับขึ้นค่าจ้างตามภาวะเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานกรรมการค่าจ้างไปศึกษารูปแบบและกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมร่วมกับกรรมการฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งต่อไปอยู่ระหว่างเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 2 คน เพื่อให้ ครม.แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ และจะนัดหมายประชุมคณะกรรมการไตรภาคีโดยด่วนต่อไป

            “ท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ยังได้กำชับเรื่องการดูแลแก้ไขปัญหาลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้เข้าไปช่วยเหลือทุกกรณี เช่น กรณีบริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด จ.นครราชสีมา ประกาศปิดกิจการ ทางประกันสังคมได้จ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนรายละ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาแนวทางรับมือกับปัญหาลูกจ้างของบริษัทผลิตรถยนต์ประเภทสันดาปที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นอีกด้วย” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

——————————–

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

TOP