Skip to main content

“พิพัฒน์” นำทัพไตรภาคีฝ่ายไทย เยือนนครเจนีวา ร่วมประชุมใหญ่ ILC กำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

รายละเอียดเนื้อหา

  วันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล เดินทางเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 112 ซึ่งประเทศไทยได้เป็นประเทศสมาชิกก่อตั้งองค์การตั้งแต่ พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919)

  นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ผม ท่านปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน มีวาระเข้าพบ นายกิลเบิร์ท เอฟ โฮงโบ (Mr. Gilbert F. Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน รวมถึงจะร่วมรับฟังการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง การกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนฝ่ายนายจ้าง พร้อมกันนี้ผมจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรม World Day Against Child Labour ด้วย

  ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมในปีนี้ กระทรวงแรงงานจะยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ.1976 ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยต้องการเน้นย้ำถึงความโปร่งใสของการปรึกษาหารือในรูปแบบไตรภาคีที่ประเทศไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการผลักดันประเด็นความยุติธรรมทางสังคม โดยผมจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย นอกจากนี้ ผมมีกำหนดหารือร่วมกับคุณมาริน่า เอลวิร่า คัลเดโรเน่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนโยบายด้านแรงงานและสังคมอิตาลี เพื่อกระชับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอิตาลีด้วย ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการขยายตลาดแรงงานให้คนไทยสามารถไปทำงานในภาคเกษตรที่อิตาลี และภาคอื่นๆ ได้

  โดยในช่วงค่ำวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมมอบหมายให้ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนร่วมหารือกับรัฐมนตรีแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของมาเลเซีย กับสติเว่น ซิม ซี เคียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย ซึ่งหารือประเด็นการจัดตั้งกองทุนอาเซียน อันจะเป็นประโยชน์ในด้านการสร้างเครือข่ายการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตลอดจนการพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศสมาชิกต่อไปอีกด้วย

TOP