วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.00 น.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่ระดับภูมิภาคสหพันธ์สหภาพแรงงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNI Apro) ครั้งที่ 6 โดยมี นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสภาผู้ประสานงานสหพันธ์สหภาพแรงงานไทย ในฐานะเจ้าภาพในการจัดประชุม กล่าวต้อนรับ คุณอากิฮิโระ มัตสึอุระ ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก คุณคริสตี้ ฮอฟฟ์แมน เลขาธิการสหพันธ์สหภาพแรงงานโลก ผู้บริหารและสมาชิกสหพันธ์สหภาพแรงงานฯ ผู้แทนสหภาพแรงงาน ผู้แทนองค์การแรงงาน ผู้นำแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงแรมอมารี ประตูน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
นายสิรภพ กล่าวว่า ผมมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้มาเป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคของสหพันธ์แรงงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 6 ในวันนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกกลุ่ม รวมถึงแรงงานข้ามชาติเพื่อให้ได้รับสวัสดิการ และความคุ้มครองทางสังคมที่เท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมมาตรฐานการจ้างงาน ที่สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐาน ในระดับสากล อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงความสำคัญกับการทำงานในรูปแบบ “ไตรภาคี” เห็นได้จากการให้สัตยาบัน อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี ในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 112 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเคารพหลักการทำงานร่วมกัน ของระบบไตรภาคี ของประเทศไทย เพื่อการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักอีก 3 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการสมาคม รวมถึงอนุสัญญาฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน
นายสิรภพ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม โลกแห่งการทำงานในปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายใหม่ อีกหลายด้านโดยเฉพาะ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งมีความท้าทายในการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในรูปแบบใหม่ หรือแรงงานแพลตฟอร์ม กระทรวงแรงงาน ได้มีการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการทำงานในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในทุกระดับ การสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพสำหรับแรงงานทุกช่วงวัย การส่งเสริมการ Up skill Re skill และ New Skill ควบคู่ไปกับการดูแลด้านสวัสดิการ และรายได้ที่มั่นคงให้กับแรงงาน การคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน ตลอดจนการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของทุกฝ่าย โดยเฉพาะร่างกฎหมายแรงงานอิสระ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อันมีเป้าหมายเพื่อการสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีมาตรฐานด้านแรงงาน มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เกิดการสร้างงานที่มีคุณค่าแก่ทุกคน และมีภูมิต้านทาน ที่จะสร้างความมั่นใจ และแสดงถึงความความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่าน และความท้าทายทุกรูปแบบในอนาคต
“ผมขอให้การประชุมระดับภูมิภาคของสหพันธ์แรงงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในครั้งนี้ สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิทธิ และความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก และในนามของรัฐบาลไทย ผมขอยืนยันที่จะร่วมดำเนินการกับองค์การแรงงานในรูปแบบไตรภาคี เพื่อการพัฒนาและการส่งเสริมภารกิจงานด้านแรงงานของประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ต่อไป”นายสิรภพ กล่าว