Skip to main content

“พิพัฒน์” ร่วมองค์กรการค้า หอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพ สำรวจแนวโน้มผู้ประกอบการ พร้อมเตรียมมาตรการการขึ้นค่าจ้างในอนาคต

รายละเอียดเนื้อหา

 วันที่ 22 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ Mr. KURODA Jun ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และ Mr.TO Kozo ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok (JCC) และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลรายงานการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

 นายพิพัฒน์ กล่าวว่า JETRO Bangkok และ JCC Bangkok ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงาน หน่วยงานราชการ และองค์กรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และช่วยเหลือบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งในข้อกังวลของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย เกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้าง400 บาท นั้น ทางกระทรวงแรงงานได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยเบื้องต้นดังนี้ 1. ลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง 1% 12 เดือน 2. ลดภาษีค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ 1.5% โดยทางกระทรวงแรงงานจะหารือ กับกระทรวงการคลังต่อไป 3. สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ขึ้นค่าแรงตามวันทำงานจริง และบริษัทขนาดเล็กไม่ถึง200 คน ยังคงมาตรการค่าจ้างของสถานประกอบการเดิมระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งจากข้อมูลผลสำรวจที่รายงานมา กระทรวงแรงงานพร้อมนำไปเป็นแนวทาง ในการสร้างนโยบายด้านแรงงานเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหา ให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยต่อไป

 Mr.KURODA Jun ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้โอกาสเข้าพบในวันนี้ และขอบคุณที่กระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับให้กับผู้ประกอบการหลังจากปรับขึ้นค่าจ้าง และมาตรการการขออนุญาตทำงานระยะสั้นในประเทศไทย ซึ่งจากผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ครึ่งปีแรกของปี 2567 ด้านแรงงานนั้น พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ส่วนด้านการลงทุน 23% ลงทุนเพิ่ม 45% ลงทุนคงที่ ส่วนประเด็นด้านการบริหารองค์กร อันดับ1 เป็นเรื่องการเเข่งขันกับบริษัทอื่น และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น อันดับ 2,3 ตามลำดับ และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ช่วยส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ (การบริโภค) เพื่อก้าวสู่ความสัมพันธ์อันดีครบรอบการก่อตั้ง 70 ปีในประเทศไทย

 ด้าน Mr.TO Kozo ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok (JCC) กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลไทย และกระทรวงแรงงานที่ให้การสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นให้สามารถดำเนินการในประเทศไทย พร้อมรับฟังปัญหาและความคิดเห็นทุกประเด็นด้านแรงงาน ทาง JCC พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนต่อไปในอนาคต

TOP