นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้ปลัดกระทรวงแรงงานและผู้บริหารติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด หลังนายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นปีหน้า โดยพิจารณาว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรในด้านการจ้างงาน ทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายความมั่นคงและเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ที่บูรณาการทั้งระบบ ตั้งแต่การจ้างงาน การพัฒนาทักษะฝีมือ การชดเชยการเลิกจ้าง และสิทธิประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจากการวิเคราะห์เบื้องต้นนโยบาย America First อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยเพราะสินค้าไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เซมิคอนดักเตอร์ ยางล้อ เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์ ที่อาจมีการเก็บภาษีสูงขึ้นหรือต้องการแรงงานทักษะสูง ซึ่งผู้ประกอบการและลูกจ้างจะต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้
โฆษกกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยอาจได้อานิสงส์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิต หรือการลงทุนโดยตรงกลุ่มการผลิตรถยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทยและอาเซียน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการจ้างงานแรงงานไทย อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยอาจได้รับผลกระทบและส่งผลต่อเนื่องถึงแรงงานไทย รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าไทยในกลุ่มวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าจีนมากขึ้น เพราะจีนต้องหาตลาดส่งออกเพื่อระบายสินค้า ซึ่งภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานจะต้องเฝ้าติดตามผลกระทบต่อลูกจ้างแรงงานไทยด้วย ที่สำคัญไทยจะต้องเกาะติดเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เกี่ยวพันกับนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นย่อมส่งผลต่อแรงงานไทยที่ไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะในอิสราเอล ทำให้ภาครัฐอาจต้องประกาศชะลอให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
“ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน โดยในเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะได้พบหารือความร่วมมือด้านแรงงานกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 940 คน ส่วนใหญ่ทำงานในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ พนักงานนวดสปา และบาร์เทนเดอร์ ส่วนแรงงานสัญชาติอเมริกันที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย มีจำนวนประมาณ 6,600 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการสอน รองลงมาคือ ผู้จัดการบริษัท เจ้าหน้าที่บริหารของหน่วยงานเอกชน” นายภูมิพัฒน์ กล่าว
——————————–
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์