วันที่ 5 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และประชาชนที่ได้รับผลจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยมี นายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางสาวจีระภา บุญรัตน์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สสปท.ในการนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมลงพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดพัทลุง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ โดยนายพิพัฒน์ และคณะ ได้ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 11 ตำบลลำปำ จุดที่ 2 ศาลาอเนกประสงค์บ้านคลองขุด หมู่ที่ 8 ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จุดที่ 3 มัสยิดหาดไข่เต่าตะวันออก จุดที่ 4 อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก รวมทั้งสิ้น 2,000 ชุด
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้กำชับในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าให้แต่ละกระทรวงที่มีความพร้อมรีบลงพื้นที่มาดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม กระทรวงแรงงานก็ได้นำถุงยังชีพ 4,000 ชุด ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดและสถานประกอบการห้างร้านต่างๆ ซึ่งผมและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทุกกรมได้ลงมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กำลังใจกับพี่น้อง 7 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย โดยที่จังหวัดนครศรีธรรมราชผมได้มอบหมายนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จังหวัดสงขลา พัทลุง และสตูล ผมได้ลงพื้นที่เอง ส่วนในจังหวัดปัตตานีและยะลา ได้มอบหมายให้นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ และมอบหมายให้นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เสนอที่ประชุม ครม.ซึ่งที่ประชุมก็ได้เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท ขณะเดียวกันก็ได้อนุมัติงบฉุกเฉินเพิ่มเติมในแต่ละจังหวัดที่ประสบอุทกภัยจากเดิม 20 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท ที่สำคัญในส่วนของกระทรวงแรงงาน หลังน้ำลดแล้วกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะตั้งศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ที่ถูกน้ำท่วม โดยจะระดมทีมช่างประมาณ 300 คน เข้ามาช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำงาน บ้านเรือน รถจักรยานยนต์ที่จมน้ำ เครื่องยนต์เล็กทางการเกษตร เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ ซึ่งใน 7 จังหวัดคาดว่าจะมีรถจักรยานยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วมไม่น้อยกว่า 1,000 คัน ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว และจะคิกออฟ “ศูนย์ ซ่อม สร้างสุข” กรมพัฒน์จัดให้ ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ โดยอุปกรณ์ต่างๆ จะขอรับการสนับสนุนจากบริษัทห้างร้านต่างๆ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะส่งช่างไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไปเปลี่ยนติดตั้งระบบไฟฟ้าในบ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วมให้เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งมาตรการลดเงินสมทบสำหรับลูกจ้าง นายจ้าง เหลือ 3 % เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเหมือนกับผู้ประสบภัยทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางด้วย ผมจึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนสำหรับพี่น้องท่านใดที่เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายก็ขอให้แจ้งลงทะเบียนมา หรือติดต่อสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506” นายพิพัฒน์ กล่าว