วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมพร้อมให้นโยบายการปฏิบัติงานแก่อาสาสมัครแรงงาน บัณฑิตแรงงาน ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และตัวแทนกลุ่มลูกจ้าง โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมโดยได้เยี่ยมชมบูธกิจกรรมของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมส่งเสริมกลุ่มอาชีพอิสระ โดยอาสาสมัครแรงงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมจัดหางานเคลื่อนที่โดยรถโมบายยูนิต กิจกรรมการแสดงสินค้าของกลุ่มกลุ่มอิษดากระเป๋าผ้า ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ภารกิจของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มอบจักรอุตสาหกรรมให้แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าน้ำแพร่พัฒนา สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมการประชาสัมพันธ์มาตรา 40 และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ภาค 3 ประชาสัมพันธ์ภารกิจของศูนย์ฟื้นฟูฯ เกมส์ฟื้นฟูสมรรถนะ สาธิตการฝึกอาชีพ แสดงผลิตภัณฑ์จาการฝึกอาชีพของผู้เข้ารับการฟื้นฟู แสดงอุปกรณ์และนวัตกรรมด้านการฟื้นฟูสมรรถนะ ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถนะคนงานภาค 3 เชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับเครือข่ายแรงงานทั้งอาสาสมัครแรงงาน และบัณฑิตแรงงาน ในการขับเคลื่อนภารกิจ นโยบายของแต่ละหน่วยงานให้ถึงประชาชนได้มากที่สุด ปัจจุบันกระทรวงแรงงานยังได้ขยายเครือข่ายแรงงานเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยในปี 2567 กระทรวงแรงงานได้จ้างบัณฑิตแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 113 คนในทุกภูมิภาค และตั้งเป้าผลิตบัณฑิตแรงงานให้ครอบคลุมทุกอำเภอ ทั่วประเทศไทย ภายในปี 2569 เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาด้านแรงงาน ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้มีอาชีพ มีรายได้ในครัวเรือนที่สูงขึ้น ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีเครือข่าย “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน โรงงาน ในการประชาสัมพันธ์ด้านสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม เป็นหลักประกันในการทำงาน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ซึ่งภายใต้นโยบาย “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง” กระทรวงแรงงาน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน โดยมีกองทุนให้สำหรับการประกอบอาชีพ สูงสุดถึง 3 แสนบาท หรือกองทุนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ให้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท โดยความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการสร้างความแข็งแกร่งด้านแรงงาน เพื่อช่วยขับเคลือนเศรษฐกิจในชุมชนและประเทศต่อไป